ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (2502-2504)

ในปี 2502 มีการจัดตั้งสำนักงบประมาณขึ้นสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยแยกงานงบประมาณออกจากกรมบัญชีกลาง อาจารย์ป๋วยซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลังประจำสถานทูตไทยในอังกฤษ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณคนแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2502 งานชิ้นแรกคือการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ โดยยกเลิกกฎหมายทั้งหมดที่มีอยู่ ประกาศใช้พระราชบัญญัติ
วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 เพื่อให้เป็นกฎหมายในการจัดทำและการบริหารงบประมาณของไทยตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ท่านยังได้ปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติทางการคลังที่สำคัญดังนี้

  1. วิธีการงบประมาณ มีการรวมงบประมาณรายจ่ายสามัญและวิสามัญเข้าด้วยกัน เรียกว่างบรายจ่ายประจำ แยกรายจ่ายงบลงทุนออกเรียกว่ารายจ่ายงบลงทุน จำแนกวิเคราะห์รายจ่ายแยกประเภท เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การป้องกันประเทศ เป็นต้น เพื่อให้มองเห็นได้ชัดว่ามีการจัดสรรงบประมาณไปเพื่อประโยชน์ของประเทศในด้านใดบ้าง
  2. เดิมทีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้ามาก ส่งผลให้บริษัทเอกชนต้องขายสินค้าและบริการให้รัฐบาลในราคาสูงกว่าปกติ อาจารย์ป๋วยได้ปรับปรุงระเบียบการเบิกจ่ายเงินโดยเลียนแบบระบบของอังกฤษ กระจายอำนาจออกไปยังกระทรวงต่างๆ ให้แต่ละกระทรวงแต่งตั้งข้าราชการทำหน้าที่ตรวจการขอเบิกจ่ายเงินแทนกรมบัญชีกลาง เมื่อตรวจจนพอใจแล้ว แต่ละกระทรวงสามารถจ่ายเงินได้เลยโดยเขียนใบสั่งจ่าย ซึ่งปลัดกระทรวงกับเจ้าหน้าที่การคลังเป็นผู้ลงนาม ใบสั่งจ่ายนี้เอกชนผู้รับเงินสามารถนำไปขึ้นเงินหรือเข้าบัญชีธนาคารใดๆ ก็ได้ ไม่ต้องมีการวางฎีกาที่หน่วยงานใดอีกเลย ทำให้การเบิกจ่ายเงินรวดเร็วยิ่งขึ้น
  3. รายได้แผ่นดิน อาจารย์ป๋วยเสนอให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีทางตรงอย่างอื่นให้มากขึ้น เพราะการที่รัฐบาลมีรายได้ทางอ้อมโดยเฉพาะภาษีศุลกากรนั้น หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าตกต่ำลง รายได้รัฐบาลก็ต่ำด้วย เสนอให้แก้ไขระบบภาษีอากรให้ง่ายขึ้น แก้ไขระเบียบภาษีอากรให้รัดกุม ภาษีที่มีอัตราที่สูงควรลดให้ต่ำลง เพื่อให้การเลี่ยงภาษีน้อยลง เสนอการปรับปรุงวินัยและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทางภาษีอากรควบคู่กันไป ในส่วนของรัฐวิสาหกิจควรมีภาพรวมการลงทุนและบัญชีกำไรขาดทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดในงบประมาณประจำปีของรัฐบาลด้วย

หลังจากจัดระบบงานจนเข้ารูปแล้วท่านลาออกจากตำแหน่งนี้เมื่อ 30 กันยายน 2504 ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 ขณะที่อาจารย์ป๋วยเดินทางไปประชุมคณะมนตรีดีบุกที่กรุงลอนดอน ได้เกิดเหตุการณ์ที่กระทบถึงฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ด้วย อาจารย์ป๋วยบันทึกไว้ว่า

“เมื่อคุณโชติ คุณะเกษม มีเหตุอันเป็นไปต้องออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย–ผู้เขียน) ผมยังประชุมคณะมนตรีดีบุกอยู่ที่ลอนดอน จอมพลสฤษดิ์ได้มีโทรเลขถึงผม เรียกร้องให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน ในขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์มีอำนาจมาก ชี้ต้นตาย ชี้ปลายเป็น ผมไม่แน่ใจว่าถ้าปฏิเสธแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ต้องปฏิเสธ จึงมีโทรเลขตอบท่านว่า ผมไม่ขอรับตำแหน่งนี้เพราะได้สาบานไว้เมื่อตอนเข้าเป็นเสรีไทยว่า จะไม่รับตำแหน่งการเมืองใดๆ จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ (เพื่อให้แน่ใจว่าการเข้าเป็นเสรีไทยนั้นไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว) จอมพลสฤษดิ์ได้มีโทรเลขอีกฉบับหนึ่งเร่งเร้าให้ผมรับ ‘ประเทศชาติกำลังอยู่ในภาวะคับขันทางเศรษฐกิจ เห็นมีแต่คุณที่จะช่วยผมได้...’ แต่ผมก็มีโทรเลขตอบมาว่า ผมยินดีช่วยประเทศชาติทุกอย่างแต่ไม่ใช่ฐานะรัฐมนตรี ท่านนายกรัฐมนตรีคงไม่ต้องการรัฐมนตรีที่ทวนคำสาบานเป็นแน่ จอมพลสฤษดิ์จึงเงียบไป และตั้งผู้อื่นขึ้นมาแทน พอผมกลับจากประชุมคณะมนตรีดีบุก จอมพลสฤษดิ์จึงได้แต่งตั้งให้ผมเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย”

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (2502-2514)

อาจารย์ป๋วยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 7 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2502 เป็นเวลาถึง 12 ปี นับเป็นผู้ว่าการฯ ที่อยู่ในตำแหน่งที่ยาวนานที่สุด ท่านลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2514 ตลอดสมัยที่ท่านเป็นผู้ว่าการฯ จัดได้ว่าเป็นสมัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปลอดจากอิทธิพลการเมืองมากที่สุด ผู้มีอำนาจทางการเมืองและบรรดานายธนาคารทุกคนให้ความเกรงใจเพราะเชื่อมั่นในความสามารถ และความซื่อสัตย์สุจริตของท่าน และเป็นยุคที่เงินบาทได้รับความเชื่อมั่นทั้งในและนอกประเทศ ค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 20–21 บาทต่อดอลลาร์มาตลอดในช่วง 12 ปี ที่ท่านเป็นผู้ว่าการฯ

อาจารย์ป๋วยมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่รอบคอบ และสอดคล้องกับนโยบายการคลังในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศ มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งซึ่งท่านเป็นทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งท่านสามารถใช้ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างและรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ ทฤษฎีที่อาจารย์ป๋วยใช้ท่านเรียกว่า ทฤษฎีลูกโป่งสามลูกสูบ ซึ่งถือว่าในระบบเศรษฐกิจนั้นมีปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจการเงินเปลี่ยนแปลงอยู่ 3 ตัวคือ

  1. ปั๊มการคลัง สูบเข้าสูบออกเป็นรายได้รายจ่าย
  2. ปั๊มการเงินระหว่างประเทศ มีการชำระเงินเข้าประเทศและเงินไหลออกนอกประเทศ ทั้งเงินจากการค้าและเงินโอนเพื่อวัตถุประสงค์อื่น
  3. ปั๊มการเงินภายในประเทศ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยปั๊มเงิน เข้า-ออกได้ และการขยายเครดิตของภาคธนาคาร ถ้าเครดิตขยายมาก และปั๊มเงินเข้าระบบมาก ลูกโป่งก็จะโต เงินก็จะเฟ้อ ลูกโป่งก็จะลอย

ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการคลัง ด้านการเงินระหว่างประเทศ ด้านการเงินภายในประเทศ ต้องใช้มาตรการการคลังและมาตรการการเงินให้เหมาะสม ให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีอยู่อย่างพอเหมาะพอสมควรในแต่ละจังหวะ ไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อหรือเงินฝืดขึ้น หากในขณะใดมีปัจจัยภายในหรือภายนอกประเทศ มากระทบทำให้เสียเสถียรภาพไป ก็จะต้องใช้มาตรการหรือเครื่องไม้เครื่องมือในการปั๊มแต่ละช่วงให้ถูกต้อง แก้ไขสถานการณ์เพื่อให้กลับไปอยู่ในภาวะที่มีเสถียรภาพ

นอกจากนี้อาจารย์ป๋วยยังได้ริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรและตลาดตั๋วเงินคลัง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการดำเนินมาตรการนโยบายการเงิน เพื่อดูแลปริมาณเงินให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนการกำหนดค่าเสมอภาคเงินบาทให้เอื้อต่อดุลการชำระเงินระหว่างประเทศและให้มีทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ เป็นการวางรากฐานในการดำเนินมาตรการนโยบายการเงินในลักษณะเดียวกับที่ปฏิบัติอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานของธนาคารชาติให้เทียบเท่าสากล

ในด้านการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินนั้น ท่านเห็นว่าสถาบันการเงินเป็นตัวกลางที่ช่วยให้เกิดการออมและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจจะเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพได้ ระบบการเงินจะต้องพัฒนาอย่างมั่นคงควบคู่ไปด้วย

จึงมีความจำเป็นต้องเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารที่เป็นของคนไทย เริ่มด้วยการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์จนประกาศใช้พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการควบคุมดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ตามหลักสากล นับเป็นกรอบที่สำคัญของระบบธนาคารพาณิชย์สมัยใหม่ที่เสริมพื้นฐานของระบบธนาคารของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น

เพื่อป้องกันธนาคารพาณิชย์ต่างชาติขยายตัวจนครอบงำเศรษฐกิจของไทย ใน พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มีมาตราที่ระบุให้ธนาคารพาณิชย์ไทยเท่านั้นที่จะสามารถขยายสาขาในประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นการปูทางให้ธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและมีส่วนแบ่งตลาดครอบคลุมเศรษฐกิจของไทยได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ

ขณะที่เป็นผู้ว่าการฯ อาจารย์ป๋วยเอาใจใส่ในความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างจริงจัง เมื่อธนาคารไทยพัฒนาขยายตัวรวดเร็วจนฐานะการเงินอ่อนแอจนใกล้จะล้มละลาย อาจารย์ป๋วยได้เข้าจัดการโดยชักชวนธนาคารพาณิชย์ไทยอื่นๆ ให้เข้าร่วมเพิ่มทุนและดูแลปรับปรุงกิจการของธนาคารนี้ จนฟื้นกลับมาให้บริการลูกค้าได้ดังเดิม

อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าการฯ ที่บริหารงานครบทุกด้าน ในด้านสถานที่ทำงาน ท่านได้ดำเนินการจนได้วังบางขุนพรหมมาเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และใช้เป็นสถานที่ทำงานต่อมาจนทุกวันนี้ ในด้านการพนักงานท่านได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการพนักงาน โครงสร้างเงินเดือน และโครงสร้างสวัสดิการ เพื่อดูแลพนักงานให้มีความมั่นคงในสถานภาพการทำงาน และมีรายได้ที่เพียงพอแก่การครองชีพ นอกจากนี้ท่านยังได้จัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรไทยเพื่อพิมพ์ธนบัตรใช้เอง โดยเปิดโรงพิมพ์ธนบัตรครั้งแรกในปี 2512

คุณูปการเรื่องหนึ่งซึ่งอาจารย์ป๋วยทำไว้ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็คือ การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อรองรับความก้าวหน้าของธนาคารฯ ท่านได้ริเริ่มโครงการนักเรียนทุน โดยให้ทุนแก่นักเรียนที่สำเร็จมัธยมศึกษาตอนปลายให้สอบแข่งขันเพื่อส่งไปศึกษาต่อต่างประเทศในสาขาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการโดยส่งไปศึกษาหลายๆ ประเทศ เพื่อนำความรู้ที่หลากหลายมาปรับใช้ ต่อมาได้เพิ่มทุนแก่ผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศเพื่อเรียนต่อทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกอีกด้วย

นักเรียนทุนเหล่านี้ได้กลับมาทำงานให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และก้าวหน้าเป็นกำลังสำคัญให้แก่ธนาคารกลางของชาติทุกด้านอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ มีนักเรียนทุนที่ได้ก้าวหน้าจนเป็นผู้ว่าการ 4 คนแล้วและยังมีอีกมากที่สามารถรับใช้ชาติในด้านนี้ได้อย่างต่อเนื่อง

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (2505-2510)

ก่อนการตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีกองเศรษฐกิจการคลังและกองสถิติอยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ทางวิชาการของกระทรวง ต่อมาปี 2502 ได้มีการปรับปรุงแบ่งส่วนราชการใหม่ให้เหมาะสมโดยในเดือนตุลาคม 2504 มีพระราชบัญญัติปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการกระทรวงการคลังกำหนดให้มีสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นเสนาธิการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการดำเนินการศึกษาแนวโน้มและกิจการอันสำคัญต่างๆ ทางการคลังเพื่อให้คำแนะนำและช่วยแหลือทางวิชาการ เสนอแนะนโยบายด้านการคลังของประเทศต่อรัฐมนตรี

แต่ยังไม่มีการตั้งส่วนราชการนี้จนกระทั่ง 1 ตุลาคม 2505 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้อาจารย์ป๋วยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคนแรก พร้อมทั้งโอนข้าราชการจากกองเศรษฐกิจการคลังและกองสถิติที่อยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังจำนวน 23 คน มาปฏิบัติในหน่วยงานนี้ สำนักเศรษฐกิจยุคอาจารย์ป๋วยเป็นที่รวมเหล่านักเศรษฐศาสตร์คนดัง ซึ่งมีผลงานเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา อาทิ

  • นายชาญชัย ลี้ถาวร : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปี 2522-2523
  • นายนุกูล ประจวบเหมาะ : ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2522-2527 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปี 2534-2535
  • นายบัณฑิต บุณยะปานะ : ปลัดกระทรวงการคลัง ปี 2535-2536
  • นายอรัญ ธรรมโน : ปลัดกระทรวงการคลัง ปี 2536-2538
  • นายจำลอง โต๊ะทอง : กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ปี 2519-2532
  • นายไกรศรี จาติกวณิช นายมนัส ลีวีระพันธุ์ นายสุนทร เสถียรไทย : ข้าราชการชั้นอธิบดีของกระทรวงการคลัง

ต่อมามีการรับคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นเศรษฐกรจากต่างประเทศเข้ามาร่วมงานเพิ่มขึ้นอีกหลายคนซึ่งหนึ่งในจำนวนคนรุ่นใหม่ชุดนี้คือ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ได้ก้าวหน้าไปจนเป็นปลัดกระทรวงการคลัง ปี 2538-2540 และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2541-2544

ดร. เสริม วินิจฉัยกุล ปลัดกระทรวงการคลังในขณะนั้นถึงกับเอ่ยปากว่า “คนหนุ่มๆ เหล่านี้ใครก็เอาไว้ไม่อยู่ นอกจากคุณป๋วยเท่านั้น”

กล่าวได้ว่า อาจารย์ป๋วยเป็นผู้วางรากฐาน การทำงานของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านการสร้างวินัยการคลังเพื่อดูแลวินัยการใช้จ่ายของรัฐบาลให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม และควบคุมการก่อหนี้ภาครัฐด้วยการจำกัดการกู้ยืมของรัฐบาลในแต่ละปีให้ไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยป้องกันรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในสมัยต่อๆ มา ก่อหนี้เกินขอบเขตอย่างได้ผล นอกจากนี้ ยังวางแนวทางในการเสนอแนะนโยบายการคลังที่เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งยังถือปฏิบัติกันต่อมาทุกวันนี้

รางวัลแมกไซไซ

ด้วยผลงานมากมายที่ปฏิบัติในช่วงปี 2492-2508 อาจารย์ป๋วยจึงได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาการทำงานภาครัฐ (govern-ment service) โดยรางวัลระบุข้อความดังนี้

รางวัลแมกไซไซ พ.ศ. 2508
สาขาการทำงานภาครัฐ
แด่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ผู้ได้รับการยอมรับในความทุ่มเทอุทิศตน ความซื่อตรงโปร่งใส
และความรู้ความสามารถอย่างเหนือชั้น
ในการบริหารการคลังของประเทศไทย
กรุงมะนิลา วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2508

ส่วนหนึ่งของคำประกาศเกียรติคุณในพิธีมอบรางวัลแมกไซไซ ระบุว่า

“Dr. Puey’s career confirms that a single individual can make significant contributions to the progress of his country, despite a tendency toward official corruption evi-dent in many developing lands. Thailand’s relative prosper-ity and steady growth matched by stable finances are a measure of his accomplishment.”

“การปฏิบัติงานของ ดร. ป๋วย เป็นเครื่องยืนยันว่า บุคคลเพียงผู้เดียวเท่านั้นก็สามารถจะเป็นกำลังสำคัญในอันที่จะนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศตนได้ แม้กระทั่งในยามที่มีการทุจริตในวงราชการเกิดขึ้นอยู่เสมอในประเทศที่กำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ การที่ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้ามาเป็นลำดับพร้อมทั้งมีเสถียรภาพทางการเงินนั้น เป็นเครื่องชี้ผลสำเร็จของ ดร. ป๋วย”

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(2507-2515)

กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยนั้น ทรงบันทึกไว้ว่า

“ข้าพเจ้าแสวงหาผู้ที่จะมาเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ตามความมุ่งประสงค์ของข้าพเจ้าและเห็นว่า ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้เหมาะสมที่สุด แต่ไม่แน่แก่ใจว่าท่านจะตกลงรับตำแหน่งได้หรือไม่ เพราะท่านมีหน้าที่ราชการมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นหน้าที่สำคัญทั้งนั้น ข้าพเจ้านึกว่าจะต้องขอร้องท่านสักสามหน เพื่อชี้แจงความสำคัญแห่งตำแหน่งคณบดี ตามความคิดเห็นของข้าพเจ้าก่อนที่ท่านจะยอมรับตำแหน่ง แต่ที่ไหนได้ ข้าพเจ้าขอร้องท่านครั้งแรกท่านก็ยอมตกลงด้วย ท่านแสดงตนว่าเป็นนักการศึกษา เห็นความสำคัญของการศึกษาและสนใจในการศึกษา...”

  • ตลอดระยะเวลา การดำรงตำแหน่งคณบดี 8 ปี ท่านได้ปรับปรุงคณะเศรษฐศาสตร์อย่างมาก นับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญ ได้แก่
  • การสร้างอาจารย์ประจำจาก 6 คน เป็น 60 คน หาทุนส่งไปศึกษาต่างประเทศ ส่งเสริมบทบาทของอาจารย์ให้ทำหน้าที่อื่นๆ เช่น การวิจัย การให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานหรือช่วยงานบริการสังคมภายนอก
  • ปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ที่ได้มาตรฐานหลักสูตรแรกของไทย และเปิดสอนปริญญาภาคค่ำ ในปีการศึกษา 2509
  • เปิดสอนระดับปริญญาตรีภาษาอังกฤษในปี 2509 และตั้งโครงการปริญญาโทภาษาอังกฤษในปีการศึกษา 2511 จนคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภาคพื้นเอเชีย ต่อมาก็ได้ปรับปรุงโครงการปริญญาโทภาษาไทยด้วย
  • จัดตั้งห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดบริการเมื่อเมษายน 2508 เพื่อสะสมเอกสารวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาและอาจารย์ จากห้องสมุดเล็กๆ จนกลายเป็นห้องสมุดเฉพาะสาขาเศรษฐศาสตร์ที่มีหนังสือและเอกสารการวิจัยมากที่สุด ซึ่งต่อมาห้องสมุดนี้ได้ชื่อว่า “ห้องสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์”

  • ในด้านดำเนินงานของคณะเศรษฐศาสตร์ก็มีการปรับปรุงการบริหารงานในคณะให้มีโครงสร้างกรรมการประจำคณะเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมอาจารย์และข้าราชการและผู้แทนที่มาจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ ศิษย์เก่า ก่อสร้างตึกใหม่คณะเศรษฐศาสตร์กวดขันคุณภาพและการอบรมนักศึกษาโดยให้ความสำคัญต่อคุณธรรมนักศึกษา เคร่งครัดต่อความซื่อสัตย์สุจริตด้วยคำสั่ง “ทุจริตในห้องสอบ มีโทษไล่ออกสถานเดียว”

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2518-2519)

น้อยคนที่จะรู้ว่าความปรารถนาของอาจารย์ป๋วยไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของการศึกษาและการพัฒนาชนบท อาจารย์ป๋วยต้องการยกมาตรฐานทางวิชาการธรรมศาสตร์และนำมหาวิทยาลัยกลับไปสู่ประชาชน ด้วยการเข้าไปพัฒนาชนบท ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ใครหาว่าผมไม่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ที่จริงผมมี เป้าหมายในชีวิตผมคือการเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์” นับเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขธรรมศาสตร์คนแรกที่ได้เป็นอธิการบดี ตลอดระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน 8 วัน ในตำแหน่งนี้ มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นกับบ้านเมืองและพัวพันกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นผู้บริหารที่เหน็ดเหนื่อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ งานที่ท่านวางรากฐานที่สำคัญไว้ คือ

  • การริเริ่มขยายมหาวิทยาลัยไปรังสิต เป็นวิทยาเขตแห่งที่ 2 โดยแลกพื้นที่นี้กับนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เสนอบรรจุโครงการนี้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520-2524 โดยเป็นโครงการต่อเนื่อง 20 ปี
  • ริเริ่มปรับปรุงโครงสร้างทางวิชาการ การบริหารและงานธุรการโดยเริ่มจากโครงสร้างทางวิชาการที่อาจารย์ป๋วยมีแนวคิดว่าธรรมศาสตร์มีความพร้อมทางด้านสังคมศาสตร์มานานแล้ว ทิศทางต่อไปคือการขยายไปในทางวิทยาศาสตร์ในลักษณะที่ทั้ง 2 สาขาวิชาสามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้
  • แม้แต่แนวคิดเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ท่านก็ริเริ่มให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ในการนำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกจากระบบราชการ
  • มีการปรับปรุงหลักสูตรพื้นฐานและกำหนดให้คณะต่างๆ ปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรีครั้งใหญ่ ให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาที่ตนถนัดได้อย่างกว้างขวาง
  • ทบทวนวิธีการรับนักศึกษาโดยให้โอกาสแก่นักเรียนชนบทมากขึ้น ซึ่งได้รับการสานต่อจากอธิการบดีคุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ในโครงการนักเรียนเรียนดีจากชนบทหรือโครงการช้างเผือก
  • โครงการตำรา เพื่อให้อาจารย์ช่วยกันแปลหรือผลิตตำราภาษาไทยเพื่อใช้สอนในสาขาวิชาต่างๆ
    ธรรมศาสตร์กับการรับใช้สังคม เกิดจากการที่อาจารย์ป๋วยกล่าวย้ำเสมอว่ามหาวิทยาลัยอยู่ได้ด้วยภาษีอากรและเงินอุดหนุนจากประชาชน มหาวิทยาลัยจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมเป็นการตอบแทน ในเวลานั้นคณะต่างๆ ได้จัดทำการบริการสังคม เช่น
  • คณะนิติศาสตร์เริ่มโครงการกฎหมายสู่ชนบท
  • คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เปิดโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาในสลัมคลองเตย
  • โครงการบัณฑิตอาสาสมัคร
  • โครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลอง โดยอาจารย์ป๋วยชวนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมทำด้วย

  • โครงการเสริมศึกษาซึ่งเกิดตามแนวคิดของอาจารย์ป๋วย เรื่องการศึกษาต่อเนื่องหรือการศึกษาตลอดชีวิต ที่ให้ความรู้แก่ ประชาชนในวงกว้างแก่ผู้ที่ต้องการแสวงหาแต่ขาดโอกาสโดยมีหลักการเด่นชัดคือ ไม่มีการให้ปริญญา
    ท่ามกลางพายุร้ายซ้ายกับขวาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พลังนักศึกษาได้รับการยกย่องจนสามารถทำการใดๆ ก็ได้เกินขอบเขตหน้าที่ เพราะทำเลที่ตั้งเหมาะสม ธรรมศาสตร์กลายเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางการเมืองของทุกองค์กร ขณะเดียวกันก็มีขบวนการต่อต้านนักศึกษาขึ้นมาหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง อาจารย์ป๋วยได้พยายามหาทางป้องกันและแก้ไขตลอดเวลา เมื่อ 4 ตุลาคม 2519 มีการชุมนุมที่สนามหลวงแล้วย้ายเข้ามาในธรรมศาสตร์ มีการแสดงการแขวนคอผู้แสดงคนหนึ่งซึ่งหนังสือพิมพ์ได้ตกแต่งภาพให้มีใบหน้าคล้ายพระบรมโอรสาธิราชเพื่อยั่วยุให้เกลียดชังนักศึกษา วิทยุยานเกราะออกข่าวยั่วยุให้ฆ่านักศึกษาประชาชนที่อยู่ในธรรมศาสตร์ จนในที่สุดมีกำลังทหารและตำรวจบุกเข้าจับกุมและสังหารผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ คืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ต่อเนื่องถึงเช้าในวันที่ 6 ตุลาคม และยั่วยุให้ลูกเสือชาวบ้านประชาทัณฑ์อธิการบดีธรรมศาสตร์ อาจารย์ป๋วยเห็นว่าอยู่ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ จึงขอลาออกจากอธิการบดีในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และเดินทางออกนอกประเทศเพื่อความปลอดภัยในชีวิตในคืนวันนั้นไปพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษ