กวี

คิดคุณอุ่นอกโอ้ แม่จ๋า
ก่อเกิดเกื้อกายา ชุบเลี้ยง
อำนวยสุขศึกษา ประเสริฐ ยิ่งเฮย
คุณท่านคณิตเพี้ยง โลกล้นคณนา

เกิดมาสองรอบแล้ว นักษัตร
ป๋วยเอ่ยจงตั้งมนัส แน่ไว้
ปุริสะยาวอัต- ถัสส์นิป- ปทาเฮย
วายเมเถว์ให้ ระลึกน้อมปณิธาน

กูชายชาญชาติเชื้อ ชาตรี
กูเกิดมาก็ที- หนึ่งเฮ้ย
กูคาดก่อนสิ้นชี- วาอาตม์
กูจักไว้ลายเว้ย โลกให้แลเห็น

นี่คือปณิธานที่อาจารย์ป๋วยแต่งไว้เป็นโคลงสี่สุภาพเมื่ออายุครบ 24 ปี 9 มีนาคม 2483
อาจารย์ป๋วยเป็นคนที่มีความรู้ภาษาไทยดี และใช้ภาษาได้ดี นอกจากจะพูดและเขียนร้อยแก้วได้กระชับ ฟังและอ่านเข้าใจได้ง่ายแล้ว ยังเขียนโคลงกลอนภาษาไทยได้ดีอีกด้วย
เมื่อครั้งเรียนอยู่ที่อังกฤษ อาจารย์ป๋วยได้แต่ง “นิราศแบร็ดฟอร์ด” เป็นกลอนแปด มีคำกลอนบางส่วนดังนี้

“………………………. ต้องจำพรากมาอยู่ตึกพิลึกยิ่ง
นอนกับดินกินกับอู่ดูเพราพริ้ง ต้องมากลิ้งนอนเตียงเยี่ยงนารี
น้ำล้างชามเคยเย็นเป็นมันฝา น้ำล้างหน้าเย็นชื่นเคยรื่นรี่
ต้องมาใช้น้ำอุ่นฉุนเต็มที แล้วอย่างนี้หรือสะอาดอนาถใจ
กินอาหารจานสนิมชิมชูรส ……………………………..”

ความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนติดตัวอาจารย์ป๋วยไปตลอดชีวิต และใช้ความสามารถในเชิงกาพย์กลอนในชีวิตทำงานด้วย เช่นเมื่อปี 2506 สำนักงบประมาณครบรอบ 4 ปี อาจารย์ป๋วยให้คำขวัญเป็นกาพย์ยานี 11 ว่า

“สำนักงบประมาณ ตั้งมานานได้สี่ปี
ร้อยเล่นเป็นยานี พรของข้าฯ มาจากใจ
ขอให้ผู้อำนวยการ เพื่อนร่วมงานทั้งน้อยใหญ่
สุข สรรเสริญ เจริญ ชัย ลาภยศถ้วนล้วนอุดม
สุขภาพทั้งกายจิต ราชกิจประกอบสม
บุรณาดั่งปรารมภ์ ด้วยสุจริตพิทยา
เที่ยงธรรมและคัมภีร์ สามัคคีสัมปทา
วิริยวีรกล้า หาญรักษ์สัตย์อรรถกร
ดีเด่นบำเพ็ญบุญ กิตติคุณกระเดื่องดอน
อรรถผลดลนิกร พัฒนกิจสฤษดิ์เทอญ”

นอกจากนี้เมื่อท่านเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์แล้ว ในปี 2509 ท่านแต่งโคลงสี่สุภาพแสดงความหมายของ “บัณฑิต” ลงใน อนุสรณ์เศรษฐศาสตร์ 2509 ไว้ดังนี้

วิสัยบัณฑิตผู้ ทรงธรรม์
ไป่เปลี่ยนไป่แปรผัน ไป่ค้อม
ไป่ขึ้นไป่ลงหัน กลับกลอก
กายจิตวาทะพร้อม เพรียบด้วยสัตยา

ต่อมาในปี 2510 ธนาคารออมสินครบรอบ 54 ปี อาจารย์ก็เขียนกลอนสนับสนุน “สัปดาห์แห่งการออมทรัพย์” ไว้ดังนี้

สินของเรา เราออม ถนอมรัก หมายฟูมฟัก เงยงอก ซึ่งดอกผล
สินของเขา เราถนอม ย่อมมงคล ทุกทุกคน ออมสิน ภิญโญ เทอญ

ในสมัยที่อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในงานเลี้ยงประจำปีของสมาคมธนาคาร อาจารย์ป๋วยได้ถือโอกาสแถลงเรื่องที่อยากให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุง และสนองนโยบาย โดยการพูดเป็นคำกลอนได้อย่างน่าฟัง ดังเช่นบางส่วนของสุนทรพจน์เป็นกลอนแปด เมื่อ 2507

...ยังจนใจไม่รู้อยู่หนึ่งข้อ
จอมพล ถ. ท่านแถลงแจ้งเป็นเรื่อง
ท่านปรารมภ์ผมเห็นเด่นประเทือง
ว่าใครเฟื่องเป็นผู้ใหญ่ในราชการ
ตัวอย่างเช่นเป็นรัฐมนตรี
ไม่ควรมีการค้ามาสมาน
อย่าข้องเกี่ยวเที่ยวรับทำเป็นกรรมการ
สมาจารข้อนี้ดีจริงเชียว
ผมสงสัยไม่แจ้งจิตกิจการค้า
หมายความว่ากิจใดบ้างยังเฉลียว
กิจธนาคารท่านผู้ใหญ่จะไม่เกี่ยว
หรือจะเหนี่ยวรั้งไว้ไม่นับค้า...

และบางส่วนของสุนทรพจน์เป็นกาพย์ยานี 11 เมื่อปี 2509

ใคร่ถามความประสงค์ เมื่อไหร่จะลงดอกเบี้ยนี่
กำไรต้องไฝ่มี แต่อย่าเพลินเกินสมควร
ธนาคารมีภารกิจ รับชอบผิดในขบวน
พัฒนาพาเร่งด่วน ต้องเสริมส่งตรงต้นทุน

ดนตรี

ส. ศิวรักษ์ เขียนถึงอาจารย์ป๋วยไว้ตอนหนึ่งว่า

“คุณป๋วยชอบฟังเพลงไทยเป็นพิเศษ แม้ไปอยู่ต่างประเทศก็ชอบเปิดเพลงไทยเดิมฟัง ยามขับรถที่ในประเทศนี้ ก็มักฟังเพลงไทยเดิมไปด้วย ดนตรีที่ชอบเล่นเป็นนิตย์ คือ การเป่าขลุ่ย”

“บ่อยครั้งที่ผมเข้าไปในห้องทำงานของท่านภายหลังเวลาเลิกงานและท่านได้กลับจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมาเคลียร์งานที่คั่งค้างที่ธนาคาร ได้พบว่าขณะที่ท่านกำลังนั่งขมวดคิ้วนิ่วหน้ากับเอกสารปึ๊งแล้ว ปึ๊งเล่าเบื้องหน้านั้น หูของท่านก็จับอยู่ที่เทปเพลงไทยเดิมซึ่งกำลังหมุนตัวเองที่เครื่องเทปขนาดใหญ่ ซึ่งล้วนแต่เป็นเพลงไทย โดยมีเทปกองโตกำลังรอคิวของมันอยู่”

ศิลป์

นอกจากเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน และรักดนตรีไทยแล้ว อาจารย์ป๋วยยังสนใจงานศิลปะ ซึ่งรวมถึงศิลปะสมัยใหม่ด้วย และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ช่วยจัดหาเงินเพื่อก่อสร้างหอศิลป พีระศรี เพื่อใช้แสดงศิลปะทั้งของศิลปินไทยและศิลปินแห่งชาติเป็นแห่งแรก

คุณมีเซียม ยิบอินซอย ศิลปินอาวุโสผู้มีผีมือเยี่ยมในศิลปะการปั้น ได้บันทึกในปี 2528 ไว้ดังนี้

“อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ให้กำเนิด Modern Art ในประเทศไทย ได้ปรารภในบทความเกี่ยวกับเรื่องที่มหาวิทยาลัยศิลปากรไม่มีหอแสดงศิลปะ เวลามีแขกต่างประเทศมาขอดูงานของศิลปินไทย ต้องไปเที่ยวหางานที่ได้รับรางวัลเหรียญเงิน เหรียญทอง อันเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัย เพราะไม่ได้เก็บเป็นหลักแหล่ง ต้องไปขนมาปัดฝุ่นแลใยแมงมุมออก อาจารย์ท่านรู้สึกอายมาก

ท่านเคยบ่นกับดิฉันว่า ทำอย่างไรจึงจะได้เงินมา ของบประมาณก็ไม่ได้ ท่านกลุ้มใจมาก ถึงได้เขียนบทความลงหนังสือศิลปะเล่มหนึ่ง ดร. ป๋วย ได้ไปอ่านบทความนั้นเข้า ก็ตรงมาหาอาจารย์ศิลป์ ถามว่า มี plan แล้วหรือยัง แลจะต้องใช้เงินเท่าใด อาจารย์ศิลป์ก็บอกว่า ฉันมีในหัวฉัน ฉันคิดว่าอยากจะขยายห้องทำงานไปถึงที่จอดรถ ถ้ามี 1 แสนก็พอ

ดร. ป๋วย ด้วยความเห็นใจ และสนใจทางด้านศิลปะ ก็แนะนำอาจารย์ศิลป์ให้ทางลูกศิษย์ท่านแสดง Exhibition เพื่อขายงานศิลปะ เอาเงินมาทำ project นี้ โดยขายให้ได้ครึ่งของเงินที่ต้องการ แล้วอีกครึ่งท่านจะออกให้เอง บังเอิญอาจารย์ศิลป์ก็สิ้นก่อนที่จะลงมือทำอะไร

ทุกวันนี้ดิฉันบอกพวกศิลปินสมัยใหม่ว่า ควรคำนึงถึง ดร.ป๋วย ถ้าไม่มีท่าน เราจะไม่มีหอศิลป พีระศรีเป็น Gallery แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อมีหอศิลป พีระศรีแล้ว หอศิลปะแห่งชาติก็ตั้งขึ้นมา และต่อมามหาวิทยาลัยศิลปากรก็ได้ซื้อวังแล้วถึงได้ตั้งเป็นหอศิลป์ของมหาวิทยาลัย”

อาจารย์ป๋วยพูดถึง อาจารย์ศิลป์ พีระศรีไว้ว่า “บุญคุณที่ท่านอาจารย์มีต่อวงการศิลปะของประเทศไทยนี้ ใหญ่หลวงนัก แม้แต่ผู้ที่ไม่ใช่ศิลปินอย่างผม ก็ยังรู้สึกในพระคุณของท่านตลอดมา”

อาจารย์ป๋วยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มองเห็นคุณค่าของงานศิลปะ อย่างลึกซึ้ง ท่านเขียนไว้ในโอกาสที่ครบรอบปีการเปิดหอศิลป พีระศรี เมื่อ 14 พฤษภาคม 2518 ว่า

“ประชาคมใดที่เพิกเฉยต่อความงามและศิลปะ ประชาคมนั้นย่อมจะเจริญสมบูรณ์มิได้ และประชาคมใดที่จะเอาใจใส่บำรุงศิลปวิทยา ประชาคมนั้นย่อมจะประสบความเจริญ มิใช่แต่ในด้านศิลปะอย่างเดียว ย่อมจะเจริญในด้านความดี และความจริงอันเป็นองค์ประกอบแห่งสันติสุขแห่งมนุษย์ในประชาคม”