อาจารย์ป๋วย กับ การพัฒนาชนบทและสังคม

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เริ่มก่อร่างและสานงานพัฒนาชนบทในช่วงปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่านเป็นแกนหลักก่อตั้ง 3 โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาชนบทในช่วงปี 2510-2519 ดังนี้

  • มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย (บชท.)
  • สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร (ส.บอ.)
  • โครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลอง

1. มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย (บชท.)

มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่จดทะเบียนในประเทศไทยเป็นองค์กรแรก เมื่อราวปี 2510 Dr. Y.C.James Yen ประธานองค์การ International In-stitute of Rural Reconstruction (IIRR) เดินทางมาประเทศไทย เพื่อเผยแพร่แนวคิดการจัดตั้งองค์การบูรณะชนบทภาคเอกชน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2510 คุณสุรเทิน บุนนาค สามีของท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (F.A.O.) ได้นำ ดร. เยนและคณะเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล หัวหิน

คณะที่ร่วมเข้าเฝ้าได้แก่ อาจารย์ป๋วย คุณเสนาะ นิลกำแหง และนายแพทย์เฉก ธนะสิริ เข้าเฝ้าตั้งแต่ 15.00-18.00 น. รวม 3 ชั่วโมงเต็ม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในโครงการพัฒนาชนบทเป็นอย่างยิ่ง ทรงซักถามแนวคิดงานพัฒนาชนบทของ IIRR อย่างละเอียดจาก ดร. เยน ดังนั้นระหว่างเดินทางกลับจากการเข้าเฝ้า ดร. เยน ได้เอ่ยถึงความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และกล่าวว่า “เกิดมาไม่เคยพบผู้ปกครองแผ่นดินคนใดรักประชาชนเท่าพระมหากษัตริย์พระองค์นี้”

ด้วยแรงบันดาลใจที่ได้รับจากงานของ ดร. เยน อาจารย์ป๋วยได้ชักชวนนักวิชาการ นักการศึกษา นักธุรกิจ นักการคลัง นักการเมือง และเชื้อพระวงศ์บางท่าน ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2510 ในโอกาสนั้น นายเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ประธานบริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทยออยส์ได้บริจาคเงิน ประเดิมเป็นทุนจดทะเบียนมูลนิธิฯ

อาจารย์ป๋วยได้รับเลือกด้วยมติเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งประธานคนแรกของมูลนิธิฯ นายเสนาะ นิลกำแหง (ผู้บริจาคที่ดินเป็นสำนักประสานงานของมูลนิธิฯ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท) เพื่อนร่วมขบวนการเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของมูลนิธิฯ และนายแพทย์เฉก ธนะสิริ เป็นเลขานุการ ทั้งหมดนี้เป็นงานอาสาสมัคร ไม่มีค่าตอบแทนแต่อย่างใด

คณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ได้เลือกจังหวัดชัยนาทเป็นเขตพื้นที่เป้าหมายในการปฏิบัติงานพัฒนา หลังจากใช้เวลา 1 ปีเตรียมงานด้านต่างๆ รวมทั้งส่งบุคลากรชุดแรกไปฝึกอบรมหลักสูตรงานพัฒนาชนบทที่สถาบันบูรณะชนบทนานาชาติ ประเทศฟิลิปปินส์ เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2512

จากผลงานของมูลนิธิฯ ในการทำงานพัฒนาชนบทในระยะแรก คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตรับมูลนิธิฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับมูลนิธิฯ อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2512 และต่อมายังได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎประทับเหนือตราของมูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2534

แนวคิดหลักของ IIRR และมูลนิธิบูรณะชนบทฯ โดยสรุปคือ “การพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน” โดยเน้นการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ การประกอบอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ สุขภาพอนามัย และการจัดองค์กรชุมชน เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตชาวชนบทให้ดีขึ้นๆ เน้นการพัฒนา “คน” และ “องค์กรชุมชน” ส่งเสริม “การพึ่งตนเอง” และ “การร่วมมือ” ของคนในชุมชนเป็นหลัก ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐในสิ่งที่พ้นวิสัยของชุมชน ซึ่งต่างไปจากเดิมที่เน้นแต่การสงเคราะห์

บรรดานักพัฒนาที่เริ่มต้นปฏิบัติงานและเติบโตมากับมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ ต่อมาเมื่อพ้นจากมูลนิธิฯ และไปสู่หน่วยงานอื่น ได้เป็นผู้นำแนวคิดการพัฒนาชนบทแบบผสมผสานไปเผยแพร่และขยายผลแก่หน่วยงานอื่นด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่ามูลนิธิฯ ได้สร้างอิทธิพลทางความคิดด้านพัฒนาชนบทให้แก่ภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างกว้างขวาง

งานของมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความคิดและความพยายามของอาจารย์ป๋วยและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ที่จะช่วยให้สังคมไทยพัฒนาไปสู่สภาพที่พึงปรารถนา (ปฏิทินชีวิตจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน)

กิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาชนบทครั้งสุดท้ายของอาจารย์ป๋วยก่อนเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้แก่ การไปปาฐกถาและให้การดูแลการจัดสัมมนาอาสาสมัครนานาชาติในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2519 ณ สำนักงานของมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ จังหวัดชัยนาท ท่านได้อุทิศเวลาอันมีจำกัดของท่านให้แก่งานของมูลนิธิฯ จนถึงนาทีสุดท้าย

นอกจากนี้ ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ยังได้นำภาพถ่ายที่อาจารย์ป๋วยถ่ายรูปร่วมกับผู้เข้าร่วมการสัมมนาที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดเลย มาตีพิมพ์ และบิดเบือนว่าท่านร่วมสัมมนากับคอมมิวนิสต์รัสเซีย

ภาพประวัติศาสตร์ บรรยายโดย ส. ศิวรักษ์
ภาพนี้ฉายที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2518 เป็นที่ระลึกถึงการ สัมมนาว่าด้วย “เขื่อนผามอง : ปัญหาการตั้งรกรากใหม่และการเคลื่อนย้ายประชากร” และได้ตีพิมพ์ใน จุลสารของมูลนิธิโกมลคีมทอง ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2519 แต่แล้วพอเกิดเหตุการณ์อันอัปมงคลขึ้น เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมปีนั้น เจ้าหน้าที่ตำารวจได้นำ าภาพนี้มาเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม โดยวงกลมหน้าอาจารย์ป๋วย, อาจารย์เสน่ห์ จามริก, นายคำ าสิงห์ ศรีนอก และ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รวมถึงฝรั่งอเมริกันซึ่งเป็นตัวแทนของคริสต์ ศาสนานิกายเควเกอร์ที่จัดสัมมนา ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็น “รัสเซียเคบีจี” พวกคอมมิวนิสต์

2. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร

โครงการบัณฑิตอาสาสมัคร ตั้งขึ้นด้วยเจตนาที่จะให้บัณฑิตจากสาขาวิชาต่างๆ ที่มีการเรียนรู้แต่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสออกไปศึกษาเรียนรู้และรับประสบการณ์จากนอกรั้วมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบทไทย ฝึกให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม มีจิตใจที่รักความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้อื่น และทำงานด้วยความชอบธรรม

ในฐานะคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านได้ก่อตั้งโครงการ ประกาศนียบัตรอาสาสมัครขั้นบัณฑิต โดยให้โครงการนี้สังกัดคณะเศรษฐศาสตร์ไปก่อนในช่วง 3 ปีแรกคือ ปี 2512-15 รุ่นแรกรับบัณฑิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การคัดเลือกใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์ “อย่างเข้มงวด” ได้คัดเลือกบัณฑิตอาสาสมัครจำนวน 18 คน เป็นหญิง 14 คน และชาย 4 คน อาสาสมัครรุ่นแรกไปทำงานเป็นครูโรงเรียนมัธยมศึกษาโดยกระจายไปอยู่ทั่วทุกภาค เหนือสุดที่แม่สะเรียง ตะวันตกที่แม่สอด ใต้สุดที่สุไหงโก-ลก ตะวันออกเฉียงเหนือที่บุรีรัมย์

รุ่นแรกนี้อาจารย์ป๋วยได้ทุ่มเทเวลาให้อย่างมาก ได้ออกไปเยี่ยมบัณฑิตอาสาอย่างทั่วถึง และยังได้ตอบจดหมายของบัณฑิตอาสาสมัครด้วยตนเอง ทั้งที่ส่งโดยตรงถึงเจ้าของจดหมายและลงพิมพ์ในจดหมายข่าว “เพื่อนพ้อง” ตั้งแต่รุ่นที่ 2 เป็นต้นไปได้ขยายการรับสมัครบัณฑิตครอบคลุมทุกมหาวิทยาลัย

ปี 2515 ได้โอนโครงการนี้จากคณะเศรษฐศาสตร์ไปขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร” พร้อมทั้งได้ขยายกิจการกว้างขวางออกไป กล่าวคือนอกจากงานสอนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแล้ว ยังได้ขยายการสอนในระดับประถมศึกษา โดยเน้นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านทุรกันดารทั้งบนพื้นราบและบนที่สูง (หมู่บ้านชาวไทยภูเขา) นอกจากการสอนตามหลักสูตรแล้ว ยังให้ความรู้ด้านอนามัย โภชนาการ และการเกษตร และในระยะหนึ่งได้รับบุคลากรที่ส่งมาจากกองทัพบกและตำรวจเข้าร่วมโครงการด้วย

ช่วงที่อาจารย์ป๋วยได้อุทิศเวลาให้แก่บัณฑิตอาสามากที่สุดคือรุ่นที่ 1-4 ส่วนรุ่นต่อๆ มาจนถึงปี 2519 อาจารย์ป๋วยจะไปเยี่ยมแทบทุกรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัณฑิตอาสาสมัครที่ไปอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร มักได้รับกำลังใจจากท่านเป็นพิเศษ หมู่บ้านที่บัณฑิตอาสาฯ ไปอยู่บางแห่งรถเข้าไม่ถึง ต้องลงจากรถแล้วเดินเท้าลุยโคลนต่อไปอีกเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง ไปกลับ 6-7 ชั่วโมง ในการเดินทางแบบนี้อาจารย์ป๋วยมักเดินนำหน้าลิ่วด้วยอารมณ์อันแจ่มใส

“ท่านอาจารย์ป๋วยมีบุคลิกเหมาะสมที่จะเป็น “ครู” มากกว่าเป็น “อาจารย์” เพราะครูจะทำงานหนักกว่าอาจารย์หลายเท่า กล่าวคือ ท่านอาจารย์ป๋วยมิใช่สอนลูกศิษย์อย่างเดียว แต่ท่านยังประพฤติตนเป็นต้นแบบของคนดีมีคุณธรรมสูง มีความห่วงใยเอื้ออาทรในความเป็นอยู่ของศิษย์ ท่านจะซักถามถึงการทำงาน ความเป็นอยู่ของศิษย์อย่างตั้งใจ และให้คำแนะนำการทำงานแก้ปัญหาต่างๆ ลูกศิษย์จึงเกิดความอบอุ่นดุจคุณพ่อให้ความห่วงใยแก่ลูก และมีกำลังใจทำงานเพิ่มขึ้นอย่างประหลาด”

3. โครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลอง

ในช่วงที่อาจารย์ป๋วยไปสอนหนังสือและทำวิจัยด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบทอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี 2515-16 นั้น ท่านได้ติดต่อและเตรียมการที่จะเริ่มงานชิ้นใหม่ ซึ่งเป็นการแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับรูปแบบและกระบวนการพัฒนาชนบท สำหรับปรับใช้ในแต่ละชุมชนซึ่งมีลักษณะและปัญหาแตกต่างกัน

ท่านได้ชักชวนกลุ่มนักวิชาการในมหาวิทยาลัยหลายแห่งของไทยมาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินงานเพื่อชนบทของภาครัฐบาลที่ผ่านมา และได้ข้อสรุปว่า แม้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินงานหลายอย่างเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตชนบทไทย แต่ผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจริงๆ จากกิจการของภาครัฐยังต่ำกว่าที่คาดไว้มาก ปัญหาต่างๆ จึงยังมีอยู่มากมาย อาทิ เกษตรกรขาดเงินทุนหมุนเวียน การเผยแพร่วิทยาการใหม่ๆ ให้ถึงมือราษฎรไม่ได้ผลเท่าที่ควร ประชาชนในชนบทมีฐานะยากจน มีสุขภาพและอนามัยไม่สมบูรณ์ ได้รับการศึกษาไม่เต็มที่ และไม่สามารถช่วยตัวเองได้เท่าที่ควร ทั้งนี้แสดงว่าการแก้ไขเพียงด้านใดด้านหนึ่งหรือการแก้ไขโดยแยกแต่ละด้านออกจากกัน ย่อมไม่ได้ผลเท่าที่ควร

อาจารย์ป๋วยและกลุ่มนักวิชาการดังกล่าวจึงมีความเห็นว่าการพัฒนาชนบทไทยควรใช้รูปแบบการพัฒนาแบบผสมผสานหรือแบบเบ็ดเสร็จ กล่าวคือ หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลการพัฒนาชนบทควรคำนึงถึงกิจกรรมการพัฒนาทุกด้านให้สอดคล้องและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันกับการดำเนินชีวิตของชาวชนบท อาทิ การรวมกลุ่ม การประกอบอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ สุขภาพอนามัย ฯลฯ เพื่อมุ่งให้ชาวชนบทแก้ปัญหาด้วยตนเองอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การคัดเลือกปัญหา การวิเคราะห์สาเหตุและทางออก การวางแผน และการลงมือแก้ไขร่วมกัน อันจะนำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ในที่สุด

อาจารย์ป๋วยจึงได้เชิญชวนอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมก่อตั้ง “โครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลอง” โดยการระดมอาจารย์และบุคลากรจากมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่งดังกล่าวซึ่งต่างมีทักษะคนละแนว ให้มาร่วมกันทำงานทั้งในระดับการปฏิบัติงานภาคสนาม และการนำข้อมูลจากสนามมาศึกษาวิจัย ทั้งนี้เพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบและกระบวนการพัฒนาชนบทที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาคในไทย โดยเริ่มจากเขตลุ่มน้ำแม่กลองในภาคกลาง เพื่อจะได้นำเสนอต่อรัฐบาลสำหรับปรับใช้ในการพัฒนาชนบทไทยให้กว้างขวางออกไป

แผนการดำเนินโครงการฯ แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่หนึ่ง (มกราคม 2517 ถึงพฤษภาคม 2518) สำรวจข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ การเกษตร การสาธารณสุขและอนามัย และสังคม โดยการสำรวจสุ่มตัวอย่างทั่วบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง รวมทั้งการสำรวจลักษณะของดินที่ใช้ทำการเพาะปลูกในแต่ละท้องที่ วัตถุประสงค์ของการสำรวจวิจัยในระยะที่หนึ่งเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและดำเนินงานในระยะที่สอง
  • ระยะที่สอง (มิถุนายน 2518 ถึงมิถุนายน 2520) เป็นระยะปฏิบัติงานการพัฒนาชนบทในท้องที่ซึ่งได้คัดเลือกไว้ 6 แห่ง เพื่อศึกษากระบวนการในการพัฒนาชนบท และหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด ตลอดจนเจาะลึกรายละเอียดของปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในท้องที่ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเสนอรูปแบบและวิธีการพัฒนาชนบทในเขตลุ่มน้ำแม่กลอง เพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาและดำเนินการต่อไป
  • ระยะที่สาม (เริ่มตั้งแต่ปี 2520) นำเสนอรูปแบบและกระบวนการพัฒนาชนบทสำหรับเขตลุ่มน้ำแม่กลอง เพื่อให้รัฐบาลเห็นชอบและกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล จากนั้นกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันดำเนินงานอย่างจริงจัง โดยทั้ง 3 มหาวิทยาลัยจะให้ความร่วมมือทางด้านเทคนิค ผู้ชำนาญ ตลอดจนการประเมินผลเป็นระยะๆ ต่อเนื่องกันไป

โครงการนี้ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เดือนมกราคม 2517 โดยอธิการบดีทั้ง 3 มหาวิทยาลัย คือ ม.จ. จักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร. อดุล วิเชียรเจริญ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศาสตราจารย์ นพ. กษาน จาติกวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันลงพระนาม/นามในข้อตกลง

การจัดองค์กรประกอบด้วยคณะกรรมการนโยบายซึ่งเป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง คณะกรรมการอำนวยการเพื่อบริหารโครงการฯ โดยอาจารย์ป๋วยรับเป็นผู้อำนวยการโครงการ

ในแต่ละท้องที่ทดลองปฏิบัติงานพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน มีทีมทำงานประจำท้องที่ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าทีม 1 คน เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหนึ่งในสามแห่ง และมีลูกทีมจากมหาวิทยาลัย 3 แห่งๆ ละ 1 คน ทีมทำงานดังกล่าวอยู่ประจำในหมู่บ้านโดยแยกย้ายไปพักอาศัยอยู่กับชาวบ้าน ทีมมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ การประสานงานระหว่างชาวบ้าน หน่วยราชการ และคณะกรรมการอำนวยการของโครงการฯ และรวบรวมข้อมูลต่างๆ จากภาคสนามส่งให้กับนักวิจัยของโครงการฯ เพื่อนำไปศึกษาวิเคราะห์ต่อไป

“ท่านเคยบอกข้าพเจ้าว่าลุ่มน้ำแม่กลองเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ของเรา แม้กระนั้นคนยังทิ้งถิ่นเข้าไปคับคั่งอยู่ในกรุงจนเป็นสลัม ถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่ตก อนาคตของบ้านเมืองเราจะไม่มี เราต้องทำให้ชนบทแถบนี้พึ่งตัวเองได้ แทนพึ่งเมืองหลวง”

โครงการนี้เริ่มดำเนินงานก่อนที่อาจารย์ป๋วยจะเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีเพียงเล็กน้อย (อาจารย์ป๋วยอยู่ในตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 30 มกราคม 2518 ถึง 6 ตุลาคม 2519) นับตั้งแต่ท่านเข้ารับตำแหน่งอธิการบดี ขณะนั้นกระแสความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยกับฝ่ายอนุรักษนิยมในสังคมไทยกำลังทวีความรุนแรงอย่างยิ่ง อาจารย์ป๋วยในฐานะอธิการบดี มธ. ในขณะนั้นได้กลายเป็นเป้าการโจมตีของทั้ง 2 ฝ่าย ลำพังงานในตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้สร้างความเหน็ดเหนื่อยอย่างมากทั้งกายและใจให้แก่อาจารย์ป๋วย แต่ท่านยังต้องรับภาระการดำเนินโครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลองและภาระอื่นๆ อีกมากมายในเวลาเดียวกัน

ตามแผนปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ โครงการฯ จะสิ้นสุดการดำเนินงานระยะที่สองในเดือนมิถุนายน 2520 แต่แล้วบ้านเมืองก็เกิดเหตุวิปริตเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงต่อโครงการฯ จนถึงขั้นที่ต้องล้มเลิกโครงการนี้ไปกลางคัน และความหวังที่จะค้นหาคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาชนบทที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยต้องสลายไปด้วย

หากโครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลองได้มีโอกาสดำเนินการจนถึงระยะที่สาม และหากอาจารย์ป๋วยยังมีโอกาสทำงานด้านการพัฒนาชนบทต่อไป นโยบายการพัฒนาชนบทของภาครัฐบาลน่าจะมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ประชาชนในชนบทจะสามารถพึ่งตนเองได้มากกว่านี้ และระบบอุปถัมภ์ในเขตชนบทก็จะเจือจางลงไปโดยปริยาย ชาวชนบทจะมีอิสระในการลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนระดับต่างๆ และประชาธิปไตยเมืองไทยจะพัฒนาต่อไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม