เข้าโรงเรียน
นามสกุลอึ๊งภากรณ์นั้น ต้นสกุลคือ นายอากรปอ ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ เป็นขุนรักษาอากรกิจ ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่นายอากรแล้ว ยังเป็นเจ้าของแพปลา ออกเงินให้ชาวประมงกู้ไปลงทุน แล้วรับซื้อปลาเมื่อชาวประมงกลับจากออกทะเลมาแล้ว
บิดาอาจารย์ป๋วย ชื่อ นายซา มาจากเมืองจีนเข้ามาช่วยพี่ชาย (นายอากรปอ) ประกอบอาชีพ จึงใช้นามสกุลอึ๊งภากรณ์เช่นกัน นายซาทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำ กว่าจะกลับบ้านก็สองสามทุ่ม (ตามบันทึกของอาจารย์ป๋วย) ร่างกายจึงทรุดโทรม และเสียชีวิตตั้งแต่อาจารย์ป๋วยอายุเพียง 9 ขวบ ภาระการเลี้ยงดูลูกจึงตกหนักอยู่ที่มารดา คือ นางเซาะเช็ง เกิดในสกุลแซ่เตียว ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นนามสกุล ประสาทเสรี นางเซาะเช็งเอาใจใส่ เลี้ยงดูอบรมลูกอย่างเข้มงวด และสนใจในการศึกษาของลูกมาก
อาจารย์ป๋วยเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนสะพานเตี้ย ตำบลตลาดน้อย เตี่ยต้องการส่งไปเรียนที่บ้านเกิดของเตี่ยในประเทศจีน แต่แม่คัดค้าน
“แม่จัดการให้เข้าโรงเรียนอัสสัมชัญ โดยขอให้ท่านมหาสุข ศุภศิริ พาไปฝากเข้าเรียน ท่านมหาสุขเป็นครูภาษาไทยที่โรงเรียนอัสสัมชัญ อยู่บ้านใกล้กับบ้านเราในตรอกโรงสูบน้ำตลาดน้อย ผมเรียกท่านว่า คุณลุง
โรงเรียนอัสสัมชัญขณะนั้นค่าเล่าเรียนเดือนละ 7 บาท ปีหนึ่งเรียน 10 เดือนรวมเป็น 70 บาท ซึ่งแพงที่สุดสำหรับสมัยนั้น ค่าสมุดหนังสือก็แพงกว่าโรงเรียนอื่นๆ เป็นอันมาก แต่แม่ใจเด็ดตามเคย แพงก็แพงไป ฉันอยากให้ลูกฉันได้มีโอกาสดีที่สุดทัดเทียมผู้อื่น”
อาจารย์ป๋วยเข้าเรียนเป็นนักเรียน คนที่ 7036 (เลขประจำตัว) และเลือกเรียนแผนกฝรั่งเศส เรียนจบขึ้น ม. 8 ในปี 2476 ความที่เป็นคนเรียนเก่ง ทางโรงเรียนจึงชวนให้อาจารย์ป๋วยเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญทันทีที่เรียนจบ อาจารย์ป๋วยรับเป็นครูสอนเต็มเวลา เพื่อหารายได้ช่วยเหลือมารดาและครอบครัว
1 ปีต่อมา ในปี 2477 มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น ในสมัยนั้นไม่มีการบังคับให้เข้าเรียนในห้อง ทางมหาวิทยาลัยจัดพิมพ์คำบรรยาย ออกจำหน่ายในราคาถูก เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษา ซึ่งทำงานอยู่แล้ว สามารถศึกษาเองได้ตามสะดวก อาจารย์ป๋วยเห็นเป็นช่องทางที่จะหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อความก้าวหน้าในอนาคต โดยไม่ต้องเลิกทำงานหารายได้ช่วยแม่ จึงได้ลงทะเบียนเข้าเป็นนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์
เนื่องจากในวันธรรมดา ต้องสอนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญเต็มวัน ไม่สามารถไปเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ได้ จึงใช้เวลาเรียนตอนค่ำและวันสุดสัปดาห์อย่างทุ่มเท จนสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต ซึ่งเป็นปริญญาตรีทางกฎหมายและการเมืองในปี 2480 ใช้เวลาในการศึกษา 3 ปี
“ในการศึกษาขั้นอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผมเรียนพลางทำงานพลาง สอบไล่ได้เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตภายในกำหนด 3 ปี คะแนนส่วนมากได้พอผ่านไป รับพระราชทานปริญญา ลำดับที่ 65 ในจำนวนรุ่นเดียวกัน 79 คน”
“เมื่อผมเรียนธรรมศาสตร์ กลางวันต้องเป็นครู และครูอัสสัมชัญต้องทำงานหนักตลอดวัน การดูหนังสือธรรมศาสตร์ก็ใช้เวลาค่ำและเวลาเช้ามืด ส่วนมากมักจะไปค้างกับเพื่อนหลายคนที่กำลังเรียนธรรมศาสตร์อยู่ด้วยกัน”
ในขณะที่เรียนที่ธรรมศาสตร์ อาจารย์ป๋วยได้รับความประทับใจจากการศึกษาด้วยวิธีอภิปรายถกเถียงกันระหว่างนักศึกษาด้วยกันเป็นอย่างมาก ได้บันทึกไว้ว่า
“ในการศึกษาขั้นอุดม การถกเถียงกันและอภิปรายระหว่างนักศึกษาเป็นของจำเป็น เมื่อผมเรียนธรรมศาสตร์ วิสัยของนักศึกษาที่จะอภิปรายถกเถียงประเด็นในวิชาการต่างๆ มีมาเดิมแล้ว ตั้งแต่ครั้งยังเป็นโรงเรียนกฎหมาย ฉะนั้นเมื่อดูหนังสืออยู่กับเพื่อนๆ เป็นหมู่คณะ การอภิปรายโต้เถียงกันเป็นของธรรมดา เฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อพวกเราเป็นพวกที่ไม่ได้ฟังคำบรรยายในตอนกลางวันเป็นส่วนใหญ่ การถกเถียงอภิปรายมีผลยิ่งยุให้แต่ละคนต้องศึกษาต่อ ต้องคิดต่อแล้วกลับมาถกอภิปรายต่อ นี่แหละที่นักปราชญ์สมัยก่อนเรียกกันเสียโก้ว่า ‘บรรยากาศทางวิชาการ (Academic atmosphere)’ ”
ต่อเมืองนอก
เรียนจบธรรมศาสตร์แล้ว อาจารย์ป๋วยลาออกจากการเป็นครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เข้าทำงานเป็นล่ามให้กับอาจารย์ชาวฝรั่งเศสที่ธรรมศาสตร์ ระหว่างนั้นก็สอบชิงทุนรัฐบาลเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ และได้ทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลังต่อในต่างประเทศ ซึ่งอาจารย์ป๋วยเลือกสมัครเข้าเรียนต่อที่ London School of Economics and Political Science ในมหาวิทยาลัยลอนดอน
อาจารย์ป๋วยต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นปริญญาตรี และอาจารย์ป๋วยก็สามารถเรียนจบปริญญาทางเศรษฐศาสตร์ได้ในปี 2484 เป็นเวลา 3 ปี โดยได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้วยกัน ด้วยความสามารถอันนี้ ทำให้อาจารย์ป๋วยได้รับทุน Leverhulme Studentships เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก แต่การศึกษาของอาจารย์ป๋วยต้องหยุดชะงักลงช่วงระยะเวลาหนึ่ง อันเป็นผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอาจารย์ป๋วยเข้าร่วมกับคนไทยในอังกฤษ ก่อตั้งคณะเสรีไทยในอังกฤษขึ้นในปี 2485 และได้สมัครเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ เริ่มจากพลทหารจนได้รับยศพันตรี เมื่อลาออกมาศึกษาต่อ เริ่มใหม่ในปี 2489
“ผมเรียนใหม่เมื่อเลิกสงครามในต้นปี 2489 เขียนวิทยานิพนธ์เสร็จและสอบปากเปล่าเสร็จ เมื่อปลายปี 2491 แต่เผอิญเวลานั้นทางการเมืองไทยโจษขานกันว่า ที่ผมได้โดดร่มเข้ากรุงเทพ (ระหว่างเป็นเสรีไทยนั้น) เพื่อร่วมปฏิวัติหรือปฏิวัติซ้อน เพื่อนฝูงถูกจับไปหลายคนแล้ว ผมจึงเข้าหาศาสตราจารย์ Robbins ขออย่าเพิ่งให้มหาวิทยาลัยประกาศผลสอบไล่ได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็หน่วงไว้ให้หลายเดือน และมาประกาศในปี 2492”
เมื่อรัฐบาลไทยทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นปลายปี 2484 ได้เรียกตัวคนไทยที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษกลับประเทศไทย แต่มีอยู่จำนวนหนึ่งไม่ยอมกลับ กลุ่มคนไทยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเอกอัครราชทูตไทย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้า สามารถเจรจาให้รัฐบาลอเมริกันยอมรับคณะเสรีไทย และกองทหารเสรีไทยในสหรัฐได้ แต่กลุ่มคนไทยในอังกฤษเจรจาให้รัฐบาลอังกฤษยอมรับคณะเสรีไทยเป็นกองทหารเสรีไทยในอังกฤษไม่สำเร็จ รัฐบาลอังกฤษยอมให้เคลื่อนไหวได้ แต่ต้องสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ
อาจารย์ป๋วยเป็นหนึ่งในเสรีไทยในอังกฤษ ซึ่งสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ งานชิ้นแรกก็คือเดินทางไปกับเรือดำน้ำจากลังกาเข้าอ่าวไทย เพื่อขึ้นบกที่ประเทศไทย แต่แผนการครั้งนี้ไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้รับสัญญาณติดต่อจากฝ่ายที่มาคอยรับในประเทศไทย จึงต้องเดินทางกลับพร้อมเรือดำน้ำ ต่อมาอาจารย์ป๋วยถูกส่งเข้ามาโดดร่มในประเทศไทยและโดดลงมาบนทุ่งนาใกล้หมู่บ้านวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ ในจังหวัดชัยนาท เป็นการลงผิดที่จากที่กำหนดไว้ให้ลงในป่า มีผลทำให้ทีมเสรีไทยทั้ง 3 คนถูกจับกุมและถูกนำตัวส่งเข้ากรุงเทพฯ ก่อนส่งตัวเข้ากรุงเทพฯ อาจารย์ป๋วยถูกล่ามโซ่ไว้กับเสาบนศาลาในวัดวังน้ำขาว ซึ่งยังมีการเก็บรักษาเสาต้นนี้ไว้ที่หน้าโรงเรียนวัดวังน้ำขาว
“เมื่อญี่ปุ่นเลิกสงครามแล้ว ในฐานะเป็นพันตรีในกองทหารอังกฤษ ผมถูกส่งตัวไปร่วมคณะผู้แทนไทย เพื่อเจรจาการทหารและการเมืองกับอังกฤษ ณ นครแคนดี ลังกา 2 ครั้ง ต่อมา มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งให้ทุนเล่าเรียนชั้นปริญญาเอกแก่ผมในขณะนั้น ได้ติดต่อไปยังกระทรวงกลาโหมอังกฤษ ขอให้ผมได้รับการปลดจากราชการทหารเร็วเป็นพิเศษ เพื่อกลับไปศึกษาต่อ”
อาจารย์ป๋วยเดินทางกลับถึงอังกฤษในเดือนธันวาคม 2488
บ้านและครอบครัว
อาจารย์ป๋วยแต่งงานกับมาร์กาเรต สมิธ (Margaret Smith) ซึ่งศึกษาชั้นปริญญาตรี สาขาสังคมวิทยาที่ LSE ในสมัยเดียวกันกับอาจารย์ป๋วย ในราวต้นปี 2489 หลังจากอาจารย์ป๋วยทำหน้าที่เสรีไทยเสร็จแล้ว และเดินทางกลับมาถึงอังกฤษเพื่อศึกษาต่อในชั้นปริญญาเอก
อาจารย์ป๋วยมีลูกชาย 3 คน คือ จอน (Jon) เกิดที่กรุงลอนดอน ในเดือนกันยายน 2490 ไมตรี (Peter) เกิดในเดือนมีนาคม 2493 ที่กรุงเทพฯ และใจ (Jiles) เกิดเดือนตุลาคม 2496 ที่กรุงเทพฯ เช่นกันเมื่ออาจารย์ป๋วยกลับมารับราชการในประเทศไทยแล้ว
“ความอบอุ่นในครอบครัวมีอานิสงส์มาถึงลูกเพราะทำให้ลูกเมื่อได้รับความอบอุ่นก็มีปัญหาน้อย … ลูกของเราทั้ง 3 คน คุณพระช่วยไม่ให้ประพฤติสำมะเลเทเมา ต่างก็มีสติปัญญา ได้เรียนจบชั้นปริญญาของมหาวิทยาลัยในอังกฤษทั้งนั้น และที่สำคัญกว่านั้น คือไม่มีใครเสพยาเสพติดให้โทษ ไม่มัวเมากามคุณ ไม่หลงใหลในอบายมุขนานาประการ เป็นผู้เชื่อในอหิงสา ความไม่ประทุษร้ายต่อใครๆ รักความสัตย์ สุจริต รักเสรีภาพ ประชาธิปไตย และเลื่อมใสการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณชน คุณสมบัติของลูกนี้ทั้งในการศึกษา ความประพฤติ นิสัย สันดาน เขาได้มาจากแม่ของเขาเป็นส่วนใหญ่”
ความดีของแหม่มมาร์กาเรต ไม่ใช่มีเฉพาะการอบรมลูกให้เป็นคนดีเท่านั้น แต่ยังมีวัตรปฏิบัติที่เอื้อต่อการรักษาความดีของอาจารย์ป๋วยเป็นอย่างมาก ดร. อรัญ ธรรมโน พูดถึงอาจารย์ป๋วยและแหม่มไว้ว่า
“ผมคิดว่าถ้าอาจารย์มีภรรยาไม่ใช่แหม่มคนนี้ อาจารย์คงเป็นคนดีไม่มากเท่านี้ แม้ผมคิดว่าจะไม่มีใครสามารถทำลายความดีอาจารย์ได้ แต่ถ้าภรรยา (เป็น) คนอื่นอาจอยากมีหน้ามีตาบ้าง (มี) อะไรบ้าง คงทำให้อาจารย์ต้องหนักใจ อาจทำอะไรดีมากๆ อย่างที่ผมเรียน (ให้ผู้ฟังทราบ) ในวันนี้ไม่ได้ก็ได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเรานึกถึงอาจารย์ ก็ควรนึกถึงแหม่มด้วย”
“บ้านผมไม่ได้ซื้อระหว่างสงคราม ซื้อเมื่อเลิกสงครามแล้ว ระหว่างสอบ Ph.d. คิดจะกลับบ้าน จึงเขียนถึงพี่สาวให้หาบ้านที พี่สาวกำลังซื้อสำหรับเขาเอง เขาเลยโอนมาให้ผม ผมมีปัญญาชำระค่าบ้านเพียงครึ่งหนึ่ง (30,000 บาท เก็บออมไว้ระหว่างเป็นทหาร) เป็นหนี้ธนาคารอีกครึ่งหนึ่ง ผ่อนชำระด้วยเงินออมอีก 3-4 ปี จึงหมดหนี้”
“จอมพล สฤษดิ์ได้พูดกับผมสองสามครั้งว่า คุณป๋วย ผมรู้ดอกว่าบ้านของคุณเป็นเรือนไม้เล็กๆ อยู่ไม่สบาย เอาไหม ผมจะสร้างตึกให้อยู่อย่างสบาย ผมก็ตอบท่านว่า ขอบพระคุณ แต่ผมอยู่สบายแล้ว ไม่เคยบ่นว่าไม่สบายเลย ครั้งท่านเซ้าซี้หนักเข้า ก็เลยพูดทีเล่นทีจริงว่า เมียผมเขาไม่ชอบอยู่ตึก ถึงท่านสร้างตึกให้ ก็จะเข้าอยู่ไม่ได้”