ความคิดและอุดมการณ์

อาจารย์ป๋วยแสดงความคิดและอุดมการณ์ไว้ทั้งการพูดและการเขียนเป็นจำนวนมากทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ งานที่ถือว่าสะท้อนความคิดในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองโดยมีจุดร่วมคือ ความเป็นธรรมในสังคมและการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพและเป็นที่พึงพอใจ คือ คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก

ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก

พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกกฎหมาย หรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่พ่อกับแม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขทำความอบอุ่นให้ผมและพี่น้อง

ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผม ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์

ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น

เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่าตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม
บ้านเมืองที่ผมอาศัยอยู่จะต้องมีขื่อ มีแป ไม่มีการข่มขู่ กดขี่ หรือประทุษร้ายกัน

ประเทศของผมควรมีความสัมพันธ์อันชอบธรรมและเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิด และวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาสรับเงินทุนจากต่างประเทศ มาใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

ผมต้องการให้ชาติผมได้ขายผลิตผลแก่ต่างประเทศด้วยราคาอันเป็นธรรม

ในฐานะที่ผมเป็นชาวไร่ ชาวนา ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีทำกินแบบใหม่ๆ มีตลาดดี และขายสินค้าได้ราคายุติธรรม

ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมก็ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสืออื่นๆ ที่ไม่แพงนัก จะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ก็ได้ โดยไม่ต้องทนรบกวนจากการโฆษณามากนัก

ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้การบริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก

ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชอุ่ม สามารถมีบทบาทและชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่างๆ เที่ยวงานวัด งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรก็ได้พอสมควร

ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำดื่มบริสุทธิ์สำหรับดื่ม

เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือ สโมสร หรือ สหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน

เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ

ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ

เมียผมก็ต้องการโอกาสเช่นเดียวกับผม และเราสองคนควรจะได้รับความรู้และวิธีวางแผนครอบครัว

เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา

เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือ ตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ

เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใช้ในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้ เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆ บ้าง

ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป

นี่แหละคือความหมายของชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน

สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์อ่านมาจนจบ ขอความสุขสวัสดีและสันติสุข จงเป็นของท่านทั้งหลาย และพระท่านกล่าวไว้ดังนี้ที่เกี่ยวกับความสวัสดี

“เราตถาคตไม่เห็นความสวัสดีอื่นได้ของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา เครื่องตรัสรู้ ความเพียร ความสำรวมอินทรีย์ และความเสียสละ”

ข้อเขียนเรื่อง คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน นี้ อาจารย์ป๋วยเขียนครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกไกล (South-east Asian Development Advisory Group-SEADAG) ในปี พ.ศ. 2516 มีความดังนี้

The Quality of Life of a South-East Asian

While in my mother’s womb, I want her to have good nutrition and access to maternal and child welfare care.

I don’t want to have as many brothers and sisters as my parents had before me, and I do not want my mother to have a child too soon after me.

I don’t care whether my father and mother are formally married, but I need them to live together in reasonable harmony.

I want good nutrition for my mother and for me in my first two or three years when my capacity for future mental and physical development is determined.

I want to go to school, together with my sister, and to learn a trade, and to have the schools impart social values to me. If I happen to be suitable for higher education, that opportunity should be available.

When I leave school I want a job, a meaningful one in which I can feel the satisfaction of making a contribution.

I want to live in a law and order society, without molestation. I want my country to relate effectively and equitably to the outside world so that I can have access to the intellectual and technical knowledge of all mankind, as well as the capital from overseas.

I would like my country to get a fair price for the products that I and my fellow citizens create.

As a farmer, I would like to have my own plot of land, with a system which gives me access to credit, to new agricultural technology and to markets, and a fair price for my produce.

As a worker, I would want to have some share, some sense of participation in the factory in which I work.

As a human being, I would like inexpensive newspapers and paperback books, plus access to radio and TV (without too much advertising).

I want to enjoy good health, and I expect the Government to provide free preventive medical service and cheap and readily available good curative service.

I need some leisure time for myself, and to enjoy my family, and want access to some green parks, to the arts, and to traditional social or religious festivities. I want clean air to breathe and clean water to drink.

I would like to have the security of co-operative mechanisms in which I join to help others do things which they cannot do alone, and they do the same for me.

I need the opportunity to participate in the society around me, and to help shape the decisions of the economic and social as well as the political institutions that so affect my life.

I want my wife to have equal opportunity with me, and I want both of us to have access to the knowledge and means of family planning.

In my old age, it would be nice to have some form of social security to which I have contributed.

When I die, if I happen to have some money left, I would wish the Government to take some of it, leaving an adequate amount for my widow. With this money the Government should make it possible for others to enjoy life too.

These are what life is all about, and what development should seek to achieve for all.

ต่อมาท่านจึงได้แปลเป็นภาษาไทยและขยายความ ดังที่แสดงไว้ข้างต้น

แนวความคิดด้านการคลัง

อาจารย์ป๋วยเคยกล่าวถึงแนวความคิดด้านการคลังไว้ว่า

“ระบบการเก็บภาษีอากรในปัจจุบันของเรา ยังมีช่องโหว่อยู่มากในแง่ของความเป็นธรรมในสังคม หรือในแง่ของการกระจายรายได้ เป็นความจริงข้อหนึ่งว่า พรีเมียมข้าวทำให้ชาวนาต้องเสียเปรียบ และก็เป็นความจริงอีกข้อหนึ่งว่า เขายังมีช่องทางเก็บภาษีจากคนรวยได้มากขึ้น เพื่อนำเงินไปช่วยคนจนให้มากขึ้น การปรับปรุงภาษีที่ดินในเมือง ภาษีทรัพย์สิน ภาษีเงินได้นิติบุคคลและการนำภาษีมรดกและภาษีการรับมรดกกลับมาใช้อีก จะทำให้รัฐบาลสามารถที่จะใช้จ่ายเพื่อชาวนา และคนจนอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก และโดยวิธีนี้ รัฐบาลก็จะสามารถดำเนินนโยบายที่จะทำให้ความแตกต่างระหว่างรายได้คนรวยกับคนจนลดลงด้วย”

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมือง

ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ เขียนถึงอาจารย์ป๋วยว่า

“ระบบเศรษฐกิจของเรานั้นเกี่ยวพันกับเมืองอย่างแน่นแฟ้นในทรรศนะของอาจารย์ป๋วย เศรษฐศาสตร์และการเมืองเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ได้ เศรษฐศาสตร์ต้องตามการเมือง และการเมืองต้องผันแปรไปตามเศรษฐกิจด้วย

แนวคิดของอาจารย์จะเน้นความเป็นไปได้ในภาคปฏิบัติ มากกว่าที่จะเสนอความฝันเลื่อนลอย มองจากแง่นี้แล้ว อาจารย์ต้องการเสนอแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองเพื่อนำไปปฏิบัติได้ในการแก้ไขสภาพเศรษฐกิจสังคมการเมือง ให้มีลักษณะมนุษยธรรมมากขึ้น

การเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ต้องเรียนรู้วิธีวิเคราะห์ เพื่อแยกธาตุของปัญหาเมื่อสังเกตเห็นปัญหาได้ถ่องแท้ และเพื่อแสวงหาวิถีทางอันถูกต้องที่จะนำไปสู่การขบปัญหาตามความต้องการ

ในทรรศนะของอาจารย์ สิ่งที่กระตุ้นให้มนุษย์ประกอบการเศรษฐกิจนั้น มิใช่แรงจูงใจทางการเงินแต่อย่างเดียว สิ่งที่สำคัญมากก็คือ ความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”

แนวคิดด้านการศึกษา

อาจารย์ป๋วยพูดถึงการศึกษาไว้ว่า

“การศึกษากับเศรษฐกิจนั้นเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และมีผลต้องกันอย่างสนิท คือถ้าการศึกษาของชาติดี แรงงานของชาติดีตามและจะช่วยเศรษฐกิจของชาติให้ดีด้วย กลับกันถ้าการศึกษาของชาติเลว แรงงานก็เลวตาม และเศรษฐกิจของชาติก็ยิ่งเลว อีกประการหนึ่งการพัฒนาการศึกษานี้ ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้ถึงสองนัย คือ นอกจากจะช่วยให้เศรษฐกิจส่วนรวมก้าวหน้าขึ้นแล้ว ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกระจายทรัพย์สินและรายได้ให้ทั่วถึงกัน ทำให้เด็กทุกคนมีโอกาสหาความรู้ความเจริญได้เสมอกันยิ่งขึ้น”

อุดมการณ์ทางการเมืองและสังคม

“ถ้ายึดมั่นในหลักประชาธรรมแล้ว ไม่มีวิธีอื่นใดเพื่อได้มาซึ่งประชาธรรม นอกจากสันติวิธี”

“การใช้อาวุธขู่เข็ญประหัตประหารกันเพื่อประชาธรรมนั้น แม้จะสำเร็จ อาจจะได้ผลก็เพียงชั่วครู่ชั่วยาม จะไม่ได้ประชาธรรมถาวร เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้อาวุธแล้วอีกฝ่ายหนึ่งแพ้ ก็ย่อมคิดใช้อาวุธโต้ตอบ เมื่ออาวุธปะทะกันแล้วจะรักษาประชาธรรมไว้ได้อย่างไร ตัวอย่างมีทั่วไปในอาฟริกา เอเชีย อเมริกาใต้ และผู้ที่สมคบกันใช้อาวุธแสวงอำนาจนั้น ภายหลังมักจะแตกแยกกัน เพราะชิงอำนาจกันใช้อาวุธต่อสู้ซึ่งกันและกันอีก ไม่มีที่สิ้นสุด”

“สันติวิธีเป็นวิธีเดียวเพื่อประชาธรรมถาวร คงต้องใช้เวลานาน คงต้องเสียสละ คงต้องกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเป็นพิเศษ คงเป็นที่เย้ยหยันของผู้อื่น แต่ถ้ามั่นในหลักการจริง ความมานะอดทนย่อมตามมาเอง”

อาจารย์ป๋วยยึดมั่นมาโดยตลอดในความเป็นธรรมในสังคม การมีสิทธิเสรีภาพในการพูด การเขียน การคิด การแสดงออกในทางที่ถูกที่ควรและการให้คนส่วนใหญ่ในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ตลอดเวลานับแต่ ปี 2491 เป็นต้นมาประเทศไทยยังไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง วันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร ผู้ซึ่งอาจารย์ป๋วยให้ความเคารพนับถือ ได้ทำการรัฐประหารตนเองเพื่อให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศ ทำให้ท่านผิดหวังอย่างมากจนไม่อาจทนนิ่งเฉยได้ จึงเขียนจดหมายฉบับประวัติศาสตร์ขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2515 ใช้ชื่อนายเข้ม เย็นยิ่ง ที่เคยใช้เป็นชื่อรหัสสมัยเป็นเสรีไทย ถึงผู้ใหญ่บ้านชื่อทำนุ เกียรติก้อง (จอมพล ถนอม กิตติขจร) คัดค้านการยึดอำนาจเรียกร้องให้คืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว

จดหมายดังกล่าว แม้จะเป็นการทวงถามและวิงวอนขอกติกาหมู่บ้านคืน แต่ก็เท่ากับการท้าทายผู้มีอำนาจ ทำให้อาจารย์ป๋วยถูกติดตามความเคลื่อนไหวมากขึ้น อีกทั้งมีคนผสมโรงยุให้รัฐบาลลงโทษทางวินัยฐานเป็นข้าราชการที่อาจหาญเขียนจดหมายดังกล่าว ท่านจึงตัดสินใจลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุในปี 2515

จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง
เรียนนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ
กุมภาพันธ์ 2515

เรียน พี่ทำนุ ที่รักใคร่นับถือเป็นส่วนตัว

สักสองปีเศษก่อนที่ผมจะได้จากหมู่บ้านไทยเจริญที่รักของเรามาอยู่ห่างไกล พี่ทำนุในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ได้จัดการสองอย่างที่ผมและใครๆ เห็นว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับหมู่บ้านเรา โดยเฉพาะสำหรับอนาคตของชาวไทยเจริญ คือได้จัดให้มีกติกาหมู่บ้านเป็นข้อบังคับสูงสุด แสดงว่าต่อไปนี้ ชาวบ้านไทยเจริญจะสามารถยึดกติกาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งดีกว่าและทำให้เจริญกว่าที่จะปกครองกันตามอำเภอใจของคนไม่กี่คน กับเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองหมู่บ้านได้โดยสันติวิธีนั่นอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งพี่ทำนุได้อำนวยให้ชาวบ้านเลือกกันขึ้นมาเป็นปากเป็นเสียงแทนกัน ผู้ได้รับเลือกก็รวมกันเป็นสมัชชาหมู่บ้าน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำหรับหมู่บ้านของเรา โดยถือหลักประชาธรรม คือธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม และธรรมเกิดจากประชาชน รวมความว่า อำนาจสูงสุดมาจากธรรมของประชาชนในหมู่บ้านไทยเจริญทั้งหมู่

เมื่อกติกาหมู่บ้านถือกำเนิดมาแล้วก็ดี และเมื่อได้มีสมัชชาหมู่บ้านขึ้นแล้วก็ดี ผมเองก็ไม่แน่ใจนักว่ากติกาทุกข้อถูกใจผม และไม่แน่ใจว่าสมาชิกของสมัชชาทุกคนเป็นคนดี แต่ผมก็ยังนิยมยินดีในท่านผู้ใหญ่บ้านทำนุ เกียรติก้อง ที่ได้อุตสาหะสร้างสรรค์ให้มีกติกา ดีกว่าไม่มี และให้มีสมัชชา ดีกว่าไม่มี

บัดนี้ อนิจจา ผมจากหมู่บ้านไทยเจริญมาอยู่ไกลไม่ได้นาน ได้ทราบข่าวว่า พี่ทำนุเปลี่ยนใจโดยกะทันหัน ร่วมกับคณะของพี่ทำนุบางคนประกาศเลิกล้มกติกาหมู่บ้านและเลิกสมัชชาเสียโดยสิ้นเชิง หวนกลับไปใช้วิธีปกครองหมู่บ้านตามอำเภอใจของผู้ใหญ่บ้านกับคณะ ซึ่งในกรณีนี้ก็ยังคงเป็นพี่ทำนุ กับรองผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุดเดิมนั่นเอง เพียงแต่มีน้อยคนลง

เหตุผลต่างๆ ที่พี่ทำนุกับคณะแถลงให้ทราบว่าเป็นอนุสนธิแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผมได้พิจารณาใคร่ครวญและทบทวนโดยละเอียดแล้ว กับได้ใช้เวลาพิจารณาด้วยว่า เมื่อได้เลิกกติกาหมู่บ้านแล้ว ข้อต่างๆ ที่ร้ายอยู่นั้น จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้กลับกลายเป็นดีไปได้หรือไม่ ก็ยังไม่เห็นมีท่าทีว่าจะบันดาลให้กลับกลายไปอย่างที่อ้าง บางเรื่องกลับร้ายมากขึ้นด้วยซ้ำ เช่น เรื่องความไม่สงบตามชายหมู่บ้านของเรา เป็นต้น ผมสังเกตเรื่องจากที่ห่างไกลแล้วก็ยังไม่พอใจ ยังไม่แน่ใจ เมื่อมีโอกาส ผมก็เดินทางมาแวะที่บ้านไทยเจริญ 2 ครั้ง เพื่อดูด้วยตา และฟังด้วยหู ผลลัพธ์ก็ยืนยันตามความเห็นเดิมนั่นเอง เพราะปัญหาความสงบเรียบร้อยก็ดี ภัยจากภายนอกหมู่บ้านก็ดี ปัญหาเศรษฐกิจก็ดี ปัญหาสังคมก็ดี ปัญหาเยาวชนก็ดี ปัญหาเหล่านี้น่าจะแก้ไขได้ทั้งสิ้น ถ้าได้ทำกันจริงจัง โดยไม่ต้องเลิกกติกาหมู่บ้าน ถ้าจำเป็นจริงๆ จะยุบสมัชชาเสียให้เลือกกันมาใหม่ก็ทำได้ ข้อสำคัญที่สุดก็คือ การจำกัดสิทธิของมนุษย์ การห้ามชาวบ้านไทยเจริญมิให้ใช้สมองคิด ปากพูด มือเขียนโดยเสรี และมิให้ประชุมปรึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองหมู่บ้านที่รักของเราทุกคนโดยเสรีนั้น กลับเป็นการตัดหนทางมิให้หมู่บ้านไทยเจริญได้รับประโยชน์จากสมองอันประเสริฐของชาวบ้าน ทั้งในฐานปัจเจกชน และในฐานส่วนรวมด้วย

พี่ทำนุอาจจะแย้งผมได้ว่า เท่าที่มีการเปลี่ยนแปลงมา ก็เห็นแต่เจ้าหน้าที่หมู่บ้านและประชาชนชาวบ้านอนุโมทนาสาธุกันโดยทั่วไป จะมีเสียงคัดค้านบ้างก็เพียงคนโง่ๆ ไม่กี่คน ผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านนั้น เขาได้ประโยชน์จากการเลิกสมัชชา ไม่ต้องยุ่งหัวใจกับสมาชิกสมัชชา พูดกันง่ายๆ คือไม่มีใครขัดคอ ส่วนชาวบ้านนั้น พี่ทำนุก็ทราบดีว่า ชาวบ้านไทยเจริญส่วนใหญ่ถือคาถารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ผมขอยืนยันว่าผมเองก็เคยเป็นหัวหน้างานมาแล้ว จะทำถูกทำผิด หาคนแย้งหาคนโต้เถียงได้ยาก เพราะเขารู้จักรักษาตัวรอดเป็นยอดดีทั้งนั้น ส่วนที่ว่ามีเสียงคัดค้านแต่เพียงน้อยนั้นก็จริง แต่จริงเพราะเหตุว่ายามพกอาวุธของพี่ทำนุและคณะคอยปรามอยู่ตั้งแต่ต้นมือแล้ว โดยใช้ความเกรงกลัวเป็นเครื่องบันดาลให้มีเสียงคัดค้านอ่อนลง ถ้าอยากทราบชัดว่าชาวบ้านมีความจริงใจอย่างไร ก็ลองเลิกวิธีขู่เข็ญทำให้หวาดกลัวเสียเป็นไร

อย่างไรก็ตาม ที่ผมบันทึกนี้มา ก็หาได้ประสงค์ที่จะกล่าวแย้งพี่ทำนุเป็นสำคัญไม่ ผมใคร่จะเรียนเสนอข้อที่พี่ทำนุกับผมเห็นพ้องต้องกันเป็นจุดเริ่มต้น นั่นคือ เราจะพัฒนาบ้านไทยเจริญให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
การพัฒนานั้นต้องพัฒนาให้สมบูรณ์ทุกด้าน จึงจะเกิดประโยชน์จริงจัง ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านความสงบเรียบร้อย ด้านศีลธรรม ด้านวัฒนธรรม ด้านปัญญาและการศึกษา และด้านการปกครอง เป็นอาทิ
ในด้านการปกครอง ตั้งแต่ผมรู้จักพี่ทำนุจนรักใคร่นับถือเป็นส่วนตัวมาก็กว่ายี่สิบปี ผมได้ยินอยู่เสมอว่าพี่ทำนุ (และคณะ) นิยมเสรีประชาธรรม (ฝ่ายแดงจำกัดเสรีประชาธรรม เราเคยอ้างอยู่เสมอ ซึ่งก็เป็นความจริง) จึงได้อุตส่าห์ใช้เวลา ความพินิจพิจารณา สมอง และเงินทองของหมู่บ้านร่วมสิบปี ทำกติกาของหมู่บ้านขึ้นมา ที่พี่ทำนุ (และคณะ) นิยมหลักเสรีประชาธรรมนั้น ผมก็นิยมด้วยอย่างจริงใจ ทุกวันนี้ ในหมู่บ้านที่เจริญทั้งหลาย เขามักจะสนใจกับสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งหากเป็นพิษ ก็จะเป็นภัยแก่มนุษยชาติอย่างใหญ่หลวง เขาเกรงผลร้ายของวิทยาศาสตร์ เมื่อเรานำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น กลิ่นไอน้ำมันรถยนต์ ควันดำจากโรงงาน การใช้สารเคมีในทางที่เป็นพิษแก่ลุ่มน้ำและดินป่าฟ้าเขา เป็นต้น สำหรับหมู่บ้านไทยเจริญของเราก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัวซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ (แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก) เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นพิษแล้ว ในบางกรณีก็กลายเป็นอัมพาตใช้อะไรไม่ได้ บางกรณียิ่งร้ายไปกว่านั้น ปัญญาเกิดผิดสำแดง อัดอั้นหนักๆ เข้าเกิดระเบิดขึ้น อย่างที่เกิดมีมาแล้วในหมู่บ้านอื่นๆ หลายแห่ง ทุกวันนี้ อ่านหนังสือพิมพ์แต่ละวันก็พบโดยทั่วไป

ภัยจากภายนอกหมู่บ้านไทยเจริญนั้น ผมเห็นด้วยกับพี่ทำนุว่าต้องขจัดให้สิ้นไป แต่ถ้าหมู่บ้านของเรามีแต่การใช้อำนาจไม่ใช้สมองไปในทางที่ควรเช่นที่บรรพบุรุษไทยเราเคยใช้มาจนสามารถรักษาเอกราชได้มาช้านาน เมื่ออำนาจทำให้กลัว ทางชีววิทยาท่านว่าไว้ว่า เส้นประสาทบังคับให้หลับตาเสีย และเวลาหลับตานั้นแหละ เป็นเวลาแห่งความหายนะ ปรปักษ์ของเราจะถือโอกาส เราหลับตาเมื่อใด เขาได้เปรียบเมื่อนั้น
อีกประการหนึ่ง ที่ผมเห็นว่าสำคัญมาก คือพี่ทำนุก็หกสิบเศษ ผมก็ใกล้จะหกสิบเข้าไปทุกที ต่างก็จะลาโลกกันไปในไม่ช้า ผมก็มีความทะเยอทะยานเช่นเดียวกับพี่ทำนุ ที่จะทิ้งโลกและหมู่บ้านไทยเจริญไว้ให้ลูกหลาน เป็นโลกและหมู่บ้านที่น่าอยู่ มีความสงบสุข เป็นไทยสมชื่อ และเจริญสมหวัง ปัจจัยสำคัญของความเป็นไทยและความเจริญ คือ ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในหมู่บ้านของเราโดยสันติวิธี และเป็นไปตามกติกา ถ้าเราทำได้เพียงเท่านี้ แม้จะไม่สามารถทำอย่างอื่นได้มากนัก ผมว่าพี่ทำนุจะมีบุญคุณแก่เยาวชนของเราอย่างเหลือหลาย

บางคนอาจจะตั้งปัญหาว่า เยาวชนทุกวันนี้ควรหรือที่จะส่งเสริมให้มีสิทธิและเสรีภาพตามกติกาหมู่บ้าน น่าสนับสนุนละหรือ ทุกวันนี้ ความประพฤติของเยาวชนมักจะเลวทราม น่าหมั่นไส้ ผมเองก็หมั่นไส้อยู่หลายครั้งหลายหน แต่พี่ทำนุเองก็มอบหมายให้ผมเกลือกกลั้วมากับเยาวชนเป็นเวลาหลายปี เมื่อผมพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรมแล้ว ผมกลับรู้สึกภาคภูมิใจในเยาวชนของหมู่บ้านไทยเจริญเรา แทนที่จะรู้สึกหมั่นไส้ เขาสงบเสงี่ยมเจียมตัว และคารวะพวกเรามากกว่า และผิดกับที่เห็นมาในหมู่บ้านอื่นๆ ผมเห็นใจเยาวชนที่เขาได้รับการสั่งสอนจากพวกเราให้รักหลักประชาธรรม (ซึ่งก็ถูกต้อง) ให้รักและนิยมเสรีภาพในการคิด การพูด การเขียน และการสมาคม (ซึ่งก็ถูกต้องปรากฏในกติกาหมู่บ้านตลอดมาทุกกติกา) และเขานำเอาคำสั่งสอนของพวกเรานั่นเอง ไปประทับหัวใจของเขา พอหมู่บ้านมีกติกาขึ้น เขาก็ดีใจ เพราะเป็นไปตามความคาดหวังของเขา ซึ่งตรงกับคำสั่งสอนของพวกเรา แต่กติกามีชีวิตอยู่ไม่นาน ก็ถูกปลิดไปโดยฉับพลัน และไม่มีอะไรให้ความหวังได้แน่นอนว่าจะคืนชีพกลับมากำหนดเมื่อใด ใครเล่าจะไม่เสียดาย ใครเล่าจะไม่ผิดหวัง เพราะเขาคาดหวังว่าจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ไทยเจริญตามกติกาของหมู่บ้าน แต่กระนั้นก็ตาม เยาวชนของเราก็ยังตั้งอยู่ในความสงบ พยายามข่มความกลัวบ้างเมื่อพูดจาขอร้องแก่พวกเรา เพราะเขายังเชื่อในเจตนาอันดีของคนปูนเรา อย่างนี้จะไม่เอ็นดูจะไม่เมตตากรุณา และภาคภูมิใจในเยาวชนของเราได้อย่างไร?

ด้วยเหตุผลนานาประการที่ผมได้เรียนมาข้างต้น และด้วยความรักใคร่เคารพในพี่ทำนุ ผมจึงขอเรียนวิงวอน ให้ได้โปรดเร่งให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 หรืออย่างช้าก็อย่าให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญมีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธรรม สามารถเลือกตั้งสมัชชาขึ้นโดยเร็วอย่างที่พี่ทำนุได้ทำมาแล้ว ก็จะเป็นบุญคุณแก่ชาวบ้านไทยเจริญอย่างเหลือคณนาทั้งในปัจจุบันและอนาคตกาล

ด้วยความเคารพนับถือ
เข้ม เย็นยิ่ง