ผู้หญิงในชีวิตของผม-แม่
เขียนเมื่อมิถุนายน ๒๕๑๕
พิมพ์ครั้งแรกในธปท. ปริทรรศน์ ๒๕๑๕
๑.
ยายกะตา
แม่ผมชื่อเซาะเช็ง กำเนิดในสกุลแซ่เตียว ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นนามสกุลไทยว่า ประสาทเสรี เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ผมไม่รู้จักชื่อตาของผม ท่านตายก่อนผมเกิด ยายผมชื่อเชย
เชยเป็นคำไทยที่เพราะ เหมาะสำหรับตั้งชื่อผู้หญิง แต่เดี๋ยวนี้ความหมายแปรปรวนไปจนใช้ไม่ได้ ผมเข้าใจว่าสาเหตุมาจากนวนิยายเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง[1] เขียนเมื่อก่อนสงครามญี่ปุ่น ในนวนิยายนั้นลุงเชยแท้จริงเป็นตัวเอก แต่เป็นคนแบบโบราณ เสื้อผ้าเก่าแต่สะอาด เป็นคนรับใช้เขา และซื่อสัตย์สุจริต ไปรับส่งเด็กไปโรงเรียน แท้จริงเด็กคนนั้นเป็นลูกหลานลุงเชย แต่เพื่อน ๆ ของเด็กนั้นล้อเลียนลุงเชยว่าคร่ำครึ นับแต่นั้นมาพวกเราทั้งที่เคยอ่านนวนิยายเรื่องนั้นและไม่เคยอ่าน ก็เลยทึกทักเอาว่าเชยแปลว่าคร่ำครึ น่าเสียดายนัก เมื่อเล็ก ๆ ผมยังชมตาทวดอยู่เสมอว่า ท่านตั้งชื่อลูกสาว ๓ คนของท่านเก่ง ชื่อเพราะทุกคน คือ ชื่น เชย และชม
ตากับยายผมตั้งร้านขายผ้าอยู่ที่สำเพ็งใกล้ตรอกโรงโคม แม่เป็นลูกหัวปี มีน้องหญิง ๔ คน น้องชาย ๓ คน ยายผมถูกอบรมแบบโบราณ คือไม่ให้เรียนหนังสือ ฉะนั้นท่านจึงอบรมลูกสาวหัวปีแบบเดียวกัน แต่แม่ผมเป็นคนใจเด็ด อุตส่าห์เรียนหนังสือด้วยตนเอง จนอ่านและเขียนได้ดีพอใช้ หนังสือจีนแม่ไม่ได้เรียน แต่อ่านป้ายตามร้านได้และพูดได้คล่อง เมื่อโตเป็นสาวแม่ก็ช่วยยายกะตาทำบัญชีค้าขายได้ เพราะหัดดีดลูกคิดเอาเอง ไม่เคยเข้าโรงเรียน
ผมว่าที่แม่สามารถเล่าเรียนด้วยตนเองได้นั้น นอกจากจะเป็นเพราะมีมานะเด็ดเดี่ยวแล้ว ยายผมยังมีส่วนประกอบทางอ้อมให้ด้วย คือสมัยนั้นโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ(ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะหนักหนา)เริ่มเจริญขึ้น พิมพ์หนังสือไทยดี ๆ ออกจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ยายผมอ่านหนังสือไม่ออกก็จริง แต่ได้ลงทุนซื้อหนังสือโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญมารวบรวมไว้เพื่อให้คนอื่นเช่าไปอ่าน การมีห้องสมุดติดบ้านเช่นนี้คงจะยั่วยุให้ลูกสาวเกิดความสนใจและพยายามอ่านให้ออกรู้เรื่องจนได้ นอกจากนั้น แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ยายผมชอบให้เด็ก ๆ อ่านหนังสือให้ท่านฟัง บางเรื่องท่านฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจำได้แม่น เวลาเด็กอ่านติดท่านก็บอกให้ได้ถูกต้อง ถึงสมัยผมโตเข้าโรงเรียนแล้ว ก็ได้ถูกจับตัวเข้าเวรอ่านหนังสือให้ยายฟัง หนังสือไทยของผม“แตก”เพราะมีครูคนนี้ที่ไม่รู้หนังสือสักตัวเดียวคอยบอกให้เมื่ออ่านติด ห้องสมุดของยายตกทอดมาถึงรุ่นผมมากพอใช้ พอผมอ่านหนังสือออก ก็มีโอกาสได้อ่าน รามเกียรติ์ (สัก ๒–๓ จบ) อิเหนาพระอภัยมณีพระมหาชาติคำหลวงนิราศต่าง ๆ ซิยิ่นกุ้ย เต็กเช็งเป็นต้น โดยไม่ต้องไปขวนขวายหาอ่านนอกบ้าน
๒.
ลุง เตี่ย กับ แม่
เมื่อแม่อายุประมาณ ๒๕ ปี ได้แต่งงานกับเตี่ยผมซึ่งเป็นจีนนอกเข้ามาประกอบอาชีพช่วยพี่ชาย ผมไม่ใคร่จะสนิทกับเตี่ย เพราะเตี่ยไปทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำ กว่าจะกลับบ้านก็ ๒–๓ ทุ่ม และเตี่ยตายตั้งแต่ผมอายุ ๙ ขวบ ฉะนั้น นับได้ว่าแม่เลี้ยงผมพี่น้องมาตลอด
พี่ชายของเตี่ยตั้งแพปลาอยู่ที่ปากคลองวัดปทุมคงคา อาชีพนี้สมัยปัจจุบันคงจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าmerchant banking คือออกเงินให้ชาวประมงกู้ไปลงทุนแล้วรับซื้อปลาภายหลัง การให้กู้ลักษณะนี้และเป็นคนกลางจำหน่ายปลาด้วย มักจะมีผู้ตำหนิว่า ทำหน้าที่คนกลางและใช้เงินกู้เป็นเครื่องมือบังคับขูดเลือดชาวประมงคงจะไม่ถูกต้อง อนึ่ง การลงทุนแบบนี้เสี่ยงต่ออันตรายธรรมชาติอยู่มาก เพราะถ้าอากาศไม่ดี ปลาไม่เข้าโป๊ะ หรือเกิดมรสุมโป๊ะแตก หนี้ที่ให้กู้ไปนั้นก็สูญเปล่า พ่อค้าแพปลาที่ล้มละลายไปเพราะเหตุเหล่านี้ก็มีอยู่มาก
ลุงผมชื่อปอ ใคร ๆ เรียกว่าอากรปอ มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนรักษาอากรกิจ เป็นต้นสกุลอึ๊งภากรณ์ ซึ่งในเอกสารตั้งนามสกุลดูเหมือนจะสะกด“อึ๊งพากร” แล้วยังไงไม่ทราบเพี้ยนมาเป็นอย่างปัจจุบัน ก็เลยตามเลย พวกเราชาวธนาคารชาติและผู้ที่อยู่ในวงราชการคงจะสนใจที่จะทราบว่า ลุงผมเป็นตาของคุณบัญชา ล่ำซำ ตาภรรยาของคุณเกษม จาติกวนิช เป็นตาของ ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นปู่ของคุณชาญชัย อึ๊งภากรณ์ เป็นพ่อตาของคุณทรง บุลสุข(ถ้าจะกล่าวให้ครบลูกหลานของลุง คงจะต้องเขียนอีกเรื่องหนึ่ง และจะต้องสอบถามพี่ ๆ อีกมาก)[2]
แม่กับเตี่ยมีลูก ๗ คน ที่ ๑ ถึง ๔(๔ คือผม) เป็นผู้ชาย ถัดมาเป็นผู้หญิง แล้วฝาแฝดสุดท้ายหญิงกับชาย เมื่อพี่ชาย ๒ คนโตเติบใหญ่ถึงวัยเล่าเรียน เตี่ยก็จัดส่งให้ไปเรียนที่บ้านเกิดของท่านในประเทศจีน ผมยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ไม่รู้ความ ทราบทีหลังว่าถึงแม่จะมีเชื้อจีน ท่านก็ไม่สู้จะเห็นด้วยกับการส่งลูกไปเรียนเมืองจีน โดยเฉพาะเมื่อพลัดลูกพลัดแม่ ท่านย่อมมีความโทมนัสเศร้าสลดเป็นธรรมดา นัยว่าเตี่ยกับแม่ทะเลาะกันเป็นครั้งแรกเรื่องนี้ ต่อมาเมื่อก่ำ พี่ชายคนที่ ๓(ภายหลังใช้ชื่อกำพล) กับผมโตขึ้นสัก ๘-๙ ขวบ เตี่ยก็จะจัดส่งเมืองจีนอีก คราวนี้แม่ไม่ยอมเด็ดขาด บอกว่าได้ตัดใจยอมส่งไปแต่ ๒ คนแรก ๒ คนหลังนี้ต้องให้เป็นเรื่องของแม่ เตี่ยเป็นคนที่ไม่ใคร่พูด ไม่ชอบทะเลาะ ก็จำใจยอม ก่ำกับผมได้เรียนภาษาไทยบ้างแล้วที่โรงเรียน“สะพานเตี้ย” ตำบลตลาดน้อย แม่ก็จัดการให้เข้าโรงเรียนอัสสัมชัญ โดยขอให้ท่านมหาสุข ศุภศิริ พาไปฝากเข้าเรียน ท่านมหาสุขเป็นครูภาษาไทยที่โรงเรียนอัสสัมชัญ อยู่บ้านใกล้กับบ้านเราในตรอกโรงสูบน้ำตลาดน้อย ผมเรียกท่านว่าคุณลุง
โรงเรียนอัสสัมชัญขณะนั้น ค่าเล่าเรียนเดือนละ ๗ บาท ปีหนึ่งเรียน ๑๐ เดือนรวมเป็น ๗๐ บาท ซึ่งแพงที่สุดสำหรับสมัยนั้น ค่าสมุดหนังสือก็แพงกว่าโรงเรียนอื่น ๆ เป็นอันมาก แต่แม่ใจเด็ดตามเคย แพงก็แพงไป ฉันอยากให้ลูกของฉันได้มีโอกาสดีที่สุดทัดเทียมผู้อื่น ถ้าพูดตามภาษาเศรษฐศาสตร์สมัยนี้ คงจะเรียกว่า เสี่ยงลงทุนหนัก ๆ เพื่อพัฒนาทรัพยากรกำลังคน
๓.
บ้านเมืองจีนกับบ้านเมืองไทย
อีกข้อหนึ่งที่ทำให้แม่ตัดสินใจลงทุนให้ลูกเรียนแพง ๆ คงจะเป็นเพราะเห็นว่าเตี่ยทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ(เคยถูกผู้ร้ายชิงทรัพย์หัวแตกขณะไปเก็บเงินลูกค้า)แล้วก็นำเงินไปเลี้ยงครอบครัวที่เมืองจีนเสียมากต่อมาก ทำไมจะไปเสียดายเงินที่เอาไว้ใช้ในเมืองไทยบ้างสำหรับให้ลูกเรียนหนังสือ ครั้งหนึ่งเตี่ยกลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองจีน กลับมาเอารูปถ่ายที่บ้านเมืองจีนมาอวดใหญ่ เป็นตึก ๗ หลัง หลังกลางสำหรับปู่กับย่าผม ปู่กับย่ามีลูกชาย ๖ คน ฉะนั้น ตึกอีก ๖ หลังสร้างไว้ข้างละ ๓ หลังในบริเวณเดียวกันสำหรับ ลุง เตี่ย และอาของผมทุกคน ในบริเวณมีสวนส้มสวนผลไม้อื่นและมีนาพอทำมาหากินได้ทั้งครอบครัวใหญ่ ๆ ๖ ครอบครัว เตี่ยมีความภาคภูมิใจมาก เพราะที่ดินและตึกที่มีได้ถึงขนาดนี้เป็นด้วยลุงกับเตี่ยเพียง ๒ คนมาทำงานในเมืองไทย แล้วอดออมส่งเงินไปซื้อไปสร้างไว้ให้ครอบครัวได้อยู่ได้ใช้สบาย มีหน้ามีตาในหมู่บ้านตามประเพณีจีน มีชื่อเสียงว่าเป็นคนดีทั้ง ๒ คน แต่พอเตี่ยเอารูปถ่ายที่ว่านั้นมาอวดที่บ้าน แม่ก็พื้นเสียเอะอะกับเตี่ยว่านี้แหละในเมืองไทยต้องเช่าห้องแถวอยู่ราวกับรังหนู จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนฝรั่งก็ต้องทะเลาะกันก่อน เงินที่หาได้กลับส่งไปบำรุงทางเมืองจีนเสียหมด อาผู้ชายกับครอบครัวนอนกินอยู่เมืองจีนสบาย ๆ เพราะมีพี่ ๒ คนส่งเสีย ไม่ต้องทำอะไร บางคนมีเมียน้อยด้วยซ้ำ ฯลฯ เตี่ยกับแม่ไม่พูดกันไปหลายวัน
การที่ก่ำกับผมไปเรียนอัสสัมชัญ ก็ไม่ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะชื่อเราก็เป็นจีน นามสกุลก็เป็นจีน เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนก็ล้อว่าเป็นเจ๊ก เขาตั้งฉายาต่าง ๆ ให้เจ็บอาย เช่น เรียกผมว่าไอ้ตี๋ เวลาเตี่ยต้องลงชื่อรับทราบรายงานความประพฤติและผลสอบในสมุดประจำตัวนักเรียน เตี่ยก็เขียนภาษาไทยไม่ได้ ต้องลงชื่อภาษาจีน ก่ำมีความอายเรื่องนี้มากกว่าผม ตอนหลัง ๆ ถึงกับปลอมลายมือเตี่ยเขียนเป็นภาษาไทย และเปลี่ยนชื่อให้เป็นไทยเสร็จ เตี่ยเป็นลูกชายคนที่ ๓ ของปู่ ใคร ๆ เรียกว่า“ซา” ก่ำก็เปลี่ยนให้เป็น“สา” ฟังดูแล้วเป็นชื่อไทย
อยู่โรงเรียน เราทั้ง ๒ พยายามนักที่จะให้เพื่อน ๆ รับว่า เราเป็นคนไทย พอกลับมาบ้าน และโดยเฉพาะเมื่อไปหาลุงกับเตี่ยที่แพปลา บรรดาญาติทางเตี่ยที่มาร่วมทำงานหากินกับลุง ก็มักจะล้อเลียนพวกเราว่า กลายเป็นคนไทยไปเสียแล้ว พูดภาษาจีนก็ไม่ชัด กลายเป็น“ฮวนเกี๊ย” คือ ลูกชาวเขาป่าเถื่อน เรายังเด็กอยู่รู้สึกอึดอัดใจเป็นกำลังเพราะโดนขนาบทั้ง ๒ ด้าน ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน แม่เป็นคนปลอบและให้กำลังใจแก่เรา ท่านว่า“ฮวนเกี๊ย” ซีดี เกิดเมืองไทย อยู่เมืองไทย ต้องเป็นไทย ถ้าอยู่เมืองจีนเป็นคนจีนดีแล้ว เข้ามาหากินในเมืองไทยกันทำไม ท่านว่าท่านเลี้ยงลูกของท่านให้เป็นคนไทยจะได้ไม่ต้องเป็นจับกัง คือกรรมกรแบกหามอย่างญาติที่ช่างล้อเรา ไม่ต้องหาบก๋วยเตี๋ยวขายอย่างเด็ก ๆ เพื่อนบ้าน และเพื่อนเล่นของเรา และไม่ต้องเป็นอั้งยี่ สมาชิกสมาคมลับของจีนที่เป็นอันธพาล
๔.
ปัญหาของลูกจีน
ปัญหาเรื่องลูกจีนในประเทศนั้น พวกเราโดยมากมักจะมองไปในทำนองว่าลูกจีนเป็นตัวปัญหา หาได้คำนึงไม่ว่าลูกจีนนั้นเองมีปัญหาของตัวเขาอยู่เพราะถูกอัดก๊อปปี้ทั้งด้านไทยและด้านจีน ผมคิดว่าปัญหาของลูกจีนนั้น ถ้าเราแก้ไขให้แล้ว จะช่วยแก้ไขป้องกันปัญหาเรื่องลูกจีนสำเร็จไปด้วยในตัว สำหรับผมเอง แม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้เสร็จ ด้วยคาถาที่ว่า เกิดเมืองไทย อยู่เมืองไทย ต้องเป็นไทย ต้องจงรักภักดีต่อไทย แม้จะถูกเย้ยหยันต่อว่าว่าทิ้งขนบธรรมเนียมภาษาจีนของปู่ย่าและพ่อไป ก็ทนไหว เพราะแม่ชี้ทางให้ แม่เองก็ชื่อจีน มีเชื้อจีนและพูดจีนได้คล่อง รู้ขนบธรรมเนียมจีนดี เช่น เซ่นไหว้ปู่ย่าตายายพระภูมิเจ้าที่แบบจีน นั่นเป็นเรื่องของครอบครัวของสังคม ไม่ใช่เรื่องสัญชาติ และความจงรักภักดี ซึ่งต้องเป็นของไทยเด็ดขาด เมื่อครั้งสงครามญี่ปุ่น ผมและเพื่อน ๆ ลูกจีนอย่างผมอีกหลายคนไม่เคยลังเลใจเลยที่จะสละชีพเพื่อชาติไทย เพราะนอกจากจะเกิดเมืองไทย กินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือเงินของชาวนา ชาวเมืองไทย ไปเมืองนอก แล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย
ปัญหาลูกจีนในประเทศไทย ผิดกับปัญหาลูกจีนในมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในเมืองไทยนั้น ได้รับนับถือและกลมกลืนให้เป็นกันเอง และให้เป็นไทยในวงราชการ ผู้นำชาวจีนก็ได้รับการยกย่องให้เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย มีหน้าที่ความรับผิดชอบสำคัญในราชการพระคลังมหาสมบัติและการต่างประเทศ ชาวจีนโดยทั่วไปในเมืองไทยก็ได้รับการสนับสนุนให้แต่งงานกับไทยหรือกับลูกจีนเกิดในเมืองไทย ได้รับพระราชทานหรือส่งเสริมให้มีนามสกุลเป็นไทย ถ้าใครยังเป็นห่วงขนบธรรมเนียมจีนอยู่บ้างซึ่งท่านก็ไม่ห้าม และจะมีนามสกุลเป็นพันธุ์ทางก็ทำได้ โดยเก็บคำแซ่มาผสมกับภาษาไทยหรือสันสกฤตให้ฟังเป็นชื่อไทย เช่น อึ๊งภากรณ์ ก็มาจากแซ่อึ๊งคือเหลือง รวมทั้งนามสกุลแปลได้ความว่า เหลืองเหมือนดวงอาทิตย์[3] นโยบายกลมกลืนจีนและลูกจีนให้เป็นไทยจึงเป็นนโยบายที่ดี สามารถป้องกันเหตุร้ายอย่างในมาเลเซียและอินโดนีเซียเมื่อไม่นานมานี้ได้อย่างแนบเนียน
ในระดับราชการไทยกับจีนเล่า แต่ดั้งเดิมมาก็มีความสัมพันธ์กันแบบตะวันออกอย่างเสมอภาค กล่าวคือ มีสัมพันธไมตรีโดยส่งทูตนำของขวัญบรรณาการให้ซึ่งกันและกันฐานมิตร โดยไม่ต้องตั้งทูตประจำ จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพิจารณาว่า พระเจ้ากรุงจีนเริ่มทึกทักว่าไทยส่งเครื่องบรรณาการไปถวายเป็นการอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ฐานประเทศราช จึงโปรดฯ ให้งดเสีย แล้วเลิกติดต่อกันนานจนกระทั่งทางประเทศจีนเกิดเก๊กเหม็ง คือการพยายามเปลี่ยนแปลงระบบปกครอง กษัตริย์จีนจึงเริ่มส่งทูตมาพยายามจะให้มีสัมพันธไมตรีเป็นการประจำ แต่ทางประเทศไทยก็ปฏิเสธถือนโยบายเป็นมิตรอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ต้องมีทูตประจำ เป็นเช่นนี้มาจนหลังสงครามญี่ปุ่น จึงได้เริ่มมีสถานทูตประจำขึ้น นโยบายการต่างประเทศที่ได้ใช้ปฏิบัติในอดีตนั้น เท่าที่เกี่ยวกับประเทศจีนก็ถือหลักการเช่นนี้อยู่เสมอ คือเป็นมิตรกันโดยไม่ต้องผูกพันทางการ ส่วนคนชาติจีนในประเทศไทยนั้นก็ได้โอกาสประกอบสัมมาชีวะได้ โดยพยายามให้กลมกลืนเป็นไทยเสียโดยเร็ว
ผมเชื่อว่านโยบายดังกล่าวทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยมาก และในขณะเดียวกันก็สามารถชักจูงให้ลูกหลานจีนรู้สึกอบอุ่นว่าได้อยู่ในบ้านเมืองของตนเอง จริงอยู่ระหว่างไทยกับจีนและลูกจีนย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เช่น ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามถือลัทธิชาตินิยมอย่างรุนแรง หรือในสมัยที่สงครามญี่ปุ่นสงบลงใหม่ ๆ ชาวจีนในกรุงเทพฯ กำเริบ แต่ข้อขัดแย้งเช่นนี้มีอยู่ไม่นานและแก้ไขได้ง่าย เพราะภูมิหลังของเรื่องมั่นคงดีอยู่แล้ว
เรามักได้ยินคนบ่นบ่อยๆ ว่า“การค้าของไทยอยู่ในกำมือของคนต่างด้าว”ตามปกติมักจะหมายถึงต่างด้าวชาวจีน(แต่เดี๋ยวนี้หมายถึงญี่ปุ่นด้วย)ข้อนี้ไม่เป็นจริงเสียทีเดียว เพราะถ้าหมายถึงลูกจีนสัญชาติไทยด้วยก็ไม่ใช่คนต่างด้าว นอกเสียจากว่าเมื่อถูกตั้งรังเกียจให้เป็นต่างด้าว ก็ย่อมต้องมีปฏิกิริยาเป็นธรรมดา ถ้าปฏิบัติถือเสียว่าลูกจีนเกิดในเมืองไทยเป็นคนไทยจริง ๆ แล้วส่วนใหญ่ก็จะมีความสวามิภักดิ์ต่อไทยกลืนให้เป็นไทยได้ง่าย แต่บางครั้งผู้ใหญ่ในวงราชการเราหาได้กระทำเช่นนั้นไม่ กลับไปขู่เข็ญบังคับให้จีนและลูกจีนนั้นมาสวามิภักดิ์ต่อตนเป็นการส่วนตัว โดยมอบหุ้นฟรีในกิจการค้าให้ผู้ใหญ่นั้น หรือแต่งตั้งตนหรือภรรยาหรือญาติเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการบริษัท อ้างว่าที่ทำเช่นนั้นก็เพื่อจะควบคุมถึงการค้าต่าง ๆ นั้น ให้อยู่ในกำมือของคนไทย แท้จริงที่แตกต่างไปจากเดิมก็มีเพียงแต่ว่า เกิดมีคนไทยจำนวนน้อยเข้าไปแสวงประโยชน์ส่วนตัวโดย“คุ้มครอง” กิจการที่ว่านั้น เจ้าของกิจการค้านั้นไม่ว่าจะเป็นจีนหรือลูกจีนก็ตาม เมื่อได้รับการคุ้มครองแล้ว ก็ย่อมต้องทำประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้คุ้มครอง แต่ไม่ยอมให้เข้าเนื้อของตน คือยังคงมีกำไรมากเท่าเดิมหรืออาจจะมากกว่าเดิม เพราะมีท่านผู้ใหญ่คุ้มครองให้อภิสิทธิ์ด้วย ผู้ที่เสียประโยชน์จริง ๆ ก็คือลูกค้าของกิจการเหล่านั้น หมายความว่าราษฎรไทยโดยทั่วไปนั่นเองเดือดร้อน
ในบางครั้งอวิชชาทำให้ข้อเท็จจริงผิดแปรไปก็มี เช่น เรื่องจำนวนคนจีนในประเทศไทย เมื่อเลิกสงครามญี่ปุ่นใหม่ ๆ เจียงไคเชก ยืนยันว่าในเมืองไทยมีชาวจีนโพ้นทะเลอยู่ ๓–๔ ล้านคน และเรียกร้องให้ชาวจีนเหล่านั้นจงรักภักดีต่อประเทศจีน ถ้าตรวจดูสถิติของราชการไทย จะพบว่าคนสัญชาติจีนจริง ๆ มีเพียงไม่กี่แสน ฉะนั้นที่ใครนับได้ถึงหลายล้านนั้น ก็ต้องรวมนับลูกจีนสัญชาติไทยอย่างผมเข้าไปด้วยเป็นอันมาก เป็นการตู่และจดสืบอย่างไม่ชอบธรรม ต่อมารัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนก็ตู่สืบไปว่า คนจีนโพ้นทะเลมีอยู่ ๓–๔ ล้านคนในประเทศไทย เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ผู้ใหญ่ในราชการไทยเราเองยังหลงแถลงออกมาได้ว่าคนจีนในไทยมีหลายล้านคน และว่าพวกเหล่านี้จะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติไทย มีคนจำนวนมากที่รู้สึกน้อยใจในถ้อยคำนี้
พฤติกรรมของชาวจีนและลูกจีนในไทย หลังจากที่คอมมิวนิสต์ยึดอำนาจในประเทศจีนได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ แล้ว แตกต่างไปจากเดิมอย่างผิดหูผิดตา ผมได้เล่าแล้วว่า เมื่อก่อนชาวจีนอย่างเตี่ยผม ทำมาหากินได้เท่าใดก็ส่งเงินส่วนใหญ่ออกไปบำรุงครอบครัวที่เมืองจีน ลูกหลานก็ส่งไปเรียนที่นั่น และเมื่อแก่แล้วก็กลับไปตายเมืองจีน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นต้นมา ชาวจีนในไทยยังคงส่งเงินไปบำรุงญาติที่เมืองจีนอยู่บ้าง แต่ไม่มีใครกล้าส่งไปจำนวนมาก เพราะเกรงจะถูกริบและเกรงว่าญาติจะถูกเบียดเบียนฐานเป็นพวกนายทุน ฉะนั้น เงินที่หาได้ก็เก็บออมไว้ที่ประเทศไทยเป็นส่วนมาก ที่มีมากก็ปลูกตึกอยู่แทนที่จะเช่าเขาอย่างก่อน แต่เดิมชาวจีนคนไหนที่มีรถยนต์ใช้ต้องเป็นเจ้าสัว เดี๋ยวนี้เขาซื้อรถยนต์กันเกลื่อน ลูกหลานส่วนใหญ่ก็ให้เข้าโรงเรียนไทยแล้ว เข้ามหาวิทยาลัยไทย คบค้าสมาคมกับเพื่อนไทยมากขึ้น มีจำนวนมากที่ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยไทยแล้วมีความภาคภูมิใจ รู้สึกจงรักภักดีต่อประเทศไทยมากขึ้นทุกที น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลไทยจะดำเนินนโยบายกลมกลืนให้เป็นไทยได้สนิทยิ่งขึ้น โดยไม่ให้น้อยเนื้อต่ำใจว่าเป็นราษฎรประเภทสอง ด้วยความเห็นดังนี้ ผมจึงได้เสนอไว้ตอนต้นว่า ปัญหาเรื่องลูกจีนในไทยแก้ไขได้ง่ายด้วยการช่วยแก้ปัญหาของลูกจีน
ผมได้พรรณนาเรื่องจีนกับลูกจีนอย่างยืดยาวในบทความนี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับเรื่องของแม่ผม แม่เป็นผู้นิยมวัฒนธรรมจีน ขนบประเพณีจีน แต่แม่เป็นคนไทย ถือสัญชาติไทย จงรักภักดีต่อไทย เลี้ยงลูกให้อยู่ในกรอบวัฒนธรรมและศาสนธรรมของไทยมาตลอด
๕.
ปัญหาเศรษฐกิจของแม่
เตี่ยตายตั้งแต่ผมอายุ ๙ ขวบ ไม่มีมรดก ไม่มีเงินประกันชีวิต ไม่มีบำเหน็จบำนาญ เหลือให้ตกทอดมาเลย พี่ชาย ๒ คนกลับมาหากินที่เมืองไทยแล้วแต่เงินเดือนน้อยเต็มที ก่ำ ผม และน้องอีก ๓ คน ยังเล็กอยู่ กำลังเรียน กำลังกินจุ กำลังเติบโตขึ้น ลุงให้ความอุปการะส่งเสียเงินให้แม่เป็นรายเดือนแต่ก็ไม่พอใช้ ในครอบครัวเรามียาย และน้า ๒ คน มีแม่นมน้องคนเล็ก(ซึ่งหย่านมแล้ว แต่แม่นมยังอยู่ด้วยกันกับเราเหมือนญาติ)กับลูกสาวแม่นม ลูกของน้าผมจากสระบุรีมาอยู่ด้วยเพื่อเรียนหนังสือ ๒ คน แล้วยังมีญาติมาพักอาศัยอยู่ด้วยไม่ขาดสาย ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในบ้านย่อมมากเป็นธรรมดา ผม ๒ คนติดค่าเล่าเรียนที่อัสสัมชัญค้างชำระเสมอมา หนัก ๆ เข้าแม่ก็ต้องใช้ก่ำกับผมไปขอเงินก้อนจากลุงเป็นพิเศษมาชำระค่าเล่าเรียนเสียที ตอนราว พ.ศ.๒๔๖๙-๗๐ กิจการค้าของลุงผมไม่ดีเลย ลูกค้าถูกมรสุมโป๊ะแตกและเศรษฐกิจของประเทศโดยทั่วไปเลวลง ราคาปลาก็ตกต่ำ ลุงผมก็อึดอัดเรื่องเงินอยู่มาก วันหนึ่งผมขึ้นไปบนบ้านลุงแล้วขอเงินท่านมาชำระค่าเล่าเรียน ท่านนิ่งอยู่อยู่สัก ๑๐ นาทีเห็นจะได้ พอท่านรู้สึกตัวท่านก็พูดว่า“ป๋วยเอ๋ย อาแป๊ะคิดถึงเตี่ยแก”
เมื่อเตี่ยตายไปไม่นาน ลุงได้เสนอต่อแม่ว่าให้แม่พาลูกทุกคนเว้นแต่คนโต ๒ คนไปอยู่เมืองจีนเสีย ลุงรับรองเด็ดขาดว่าจะไม่ให้อนาทรร้อนใจ จะให้พวกผมได้เรียนหนังสือทุกคน และจะส่งเงินให้ใช้เป็นประจำ แม่ผมปฏิเสธ ลุงจึงแนะว่า เมื่อเงินไม่พอใช้ก็ควรจะย้ายลูกจากโรงเรียนฝรั่งไปเข้าโรงเรียนหลวง จะได้ทุ่นค่าใช้จ่ายลง แม่ก็ไม่ยอมความมานะดื้อดึงของแม่ทำให้ญาติด้านจีนอ้างภาษิตพูดถึงแม่ว่า“ชิ้วเส่ยอาตั้วกาชึง” แปลว่า“มือเล็กอุดก้นใหญ่”
รายได้ของแม่ในขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นเงินอุปการะจากลุง นอกนั้นแม่พยายาม“ติดไพ่”ที่บ้าน คือตั้งวงเล่นไพ่ในบ้านเพื่อเก็บ“ค่าต๋ง”แต่เข้าใจว่าค่าต๋งนั้นไม่เท่าใดนัก เพราะแม่ลงมือเล่นด้วย และคงเล่นได้บ้าง เสียบ้าง นักการพนันส่วนมากเวลาเล่นได้มักจะจ่ายเงินฟุ่มเฟือย และมักจะจ่ายมากจนติดนิสัย แม้เวลาเล่นเสียก็ยังจ่ายฟุ่มเฟือย แม่ผมเป็นคนใจกว้าง และได้กล่าวแล้วว่าในบ้านเรามีคนอยู่ประจำทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่น้อยกว่า ๑๔–๑๕ คนเสมอ เรื่องอาหารแม่ถือคติว่าต้องไม่ให้ใครอดอยาก ที่บ้านมีอาหารดี ๆ และเหลือเฟืออยู่เสมอ เมื่อก่ำกับผมโตขึ้นแม่ก็สนับสนุนให้ชวนเพื่อนนักเรียนไปเที่ยวที่บ้าน เมื่อเพื่อน ๆ ไปแม่ก็ดีใจ จ่ายตลาดเป็นการมโหฬารเพื่อเลี้ยงเพื่อน ๆ ผม บางครั้งชวนกันไปกว่า ๑๐ คน ยิ่งตอนตรุษหรือสารทแม่เป็นสั่งให้ชวนเพื่อนไปมาก ๆ ให้ไปกินเลี้ยงกันที่บ้าน(จะได้ไม่ไปเที่ยวเสเพลข้างนอก จ่ายกับข้าวไม่อั้น เพื่อนเก่าของผมที่อ่านเรื่องนี้คงจำได้ดี)
การครองชีพของเราอยู่ในระดับดีเกินกว่าปกติของแม่หม้ายที่เช่าห้องแถวอยู่ เมื่อก่ำกับผมยังเล็กอยู่ แม่เช่ารถม้าให้ไปส่งที่โรงเรียนบางรักและรับกลับเช้าเย็น ไม่ให้นั่งรถรางเพราะไปห้อยโหนเดี๋ยวแข้งขาหัก ไม่ให้เดินไปเพราะไกลเกินกำลัง เสื้อผ้าแม่ให้นุ่งห่มผิดกับเพื่อนบ้าน ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงขนาดของเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนซึ่งเป็นลูกคนมั่งมี ที่ผมรำคาญมากก็คือให้ใส่แหวนและสร้อยคอทองคำ เพราะเด็กไม่มีทองคำติดตัวเขาจะดูถูกเอา แม่ชอบดูละคร“ปราโมทัย” วิกเซียงกงอยู่ใกล้บ้าน และให้ผมไปเป็นเพื่อนถือกระเป๋าหมากให้เสมอ งานเรี่ยไร งานกฐิน ผ้าป่า เทศน์มหาชาติ เข้าพรรษา ออกพรรษา แม่ต้องร่วมด้วยทุกครั้งที่ถูกชวน เพื่อนบ้านหรือญาติใครขัดสนมาออกปากยืม มักจะไม่ขัด เห็นแต่บ่นว่าให้ยืมกันแล้วไม่ใคร่ได้คืน
เมื่อใช้จ่ายขนาดนี้ เงินที่ได้มาย่อมไม่พอแน่ ข้อนี้ผมทราบมาตั้งแต่เล็กอยู่แล้ว เพราะถูกใช้ให้ไปของยืมเงินจากพี่ป้าน้าอาหลายหนหลายครั้ง แต่ที่ไม่ทราบคือแม่ต้องมีภาระหนี้สินมากเพียงใด ท่านตีวงกู้ยืมกว้างขึ้นทุกที ทีแรกก็ญาติ ต่อมาเพื่อน และสุดท้ายก็คนอื่น ขั้นญาติและเพื่อนฝูงก็คงจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หรือถ้าจะเสียก็คงไม่แพงพอประมาณ แต่ที่กู้จากคนอื่น ๆ คงจะเพิ่มมากขึ้นทุกที ดอกคงจะแพงทับถมกันไป แม่พูดเสมอว่าถึงอัตคัดเพียงใดก็ไม่ให้ใครมาดูถูก ภาระการเงินแม่ว่าเป็นของแม่คนเดียว ลูกเต้าหรือแม่ท่านน้องสาวท่านไม่ต้องเกี่ยวข้องไม่ต้องเป็นห่วง แม่เป็นแม่หม้ายเลี้ยงพวกเราอย่างนี้มาร่วม ๙ ปี ๑๐ ปี จนใน พ.ศ.๒๔๗๖ ก่ำกับผมเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ จึงออกมาทำงานกินเงินเดือนทั้ง ๒ คน พอจะช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านได้บ้าง ดูเหมือนก่ำได้เงินเดือนเดือนละ ๕๐ บาท ผมเดือนละ ๔๐ บาท แต่สายเกินไปเสียแล้ว เพราะหนี้สินของแม่ได้พอกพูนมาหลายปีเกินกว่าที่จะสามารถปลดเปลื้องด้วยเงินเดือนซึ่งอยู่ในระดับดีพอใช้
จนเป็นปี ๒๔๗๖ หรือ ๒๔๗๗ จำไม่ได้แน่ แม่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๒ เงิน ๑๐,๐๐๐ บาท เพื่อน ๆ ผมรู้กันกระฉ่อนไป และมักจะถามผมว่าได้ส่วนแบ่งเท่าใด ผมก็ตอบโดยสัตย์จริงว่าแม่ให้ ๑๐ บาท ไม่มีใครเชื่อ ผมเองทราบดีว่าแม้เงิน ๑๐ บาทนั้นได้มาก็เป็นบุญเมตตาของแม่มากแล้ว เพราะเมื่อได้เงินรางวัลมาแม่ก็นำไปชำระหนี้ไถ่จำนำมาจนเกือบหมด เหลืออยู่เล็กน้อยท่านนำไปลงทุนร่วมกับญาติทำการค้าขายเพื่อให้พี่ชายคนโต ๒ คนได้มีงานทำเป็นหลักฐาน เท่าที่รู้ตอนนั้นก็เป็นเพียงเท่านี้ กระนั้นก็ยังไม่กล้าเล่าให้ใครฟังตามความเป็นจริงเพราะอายเขา เรื่องที่แม่ปกปิดพวกเราแล้วเรามาทราบภายหลังนั้นเป็นเรื่องที่ฉกาจฉกรรจ์นัก เมื่อเรื่องการเงินเรียบร้อยแล้ว แม่จึงเล่าความจริงให้ฟังว่า เมื่อก่อนจะถูกลอตเตอรี่นั้น เจ้าหนี้กำลังเร่งรัดทวงเงินแม่อยู่หลายราย วิ่งเต้นเท่าใดก็หาเงินมาชำระเขาไม่ได้ ขอผัดผ่อนไปได้บ้าง แต่ภาระหนี้ก็รัดตัวเข้ามาทุกที จนกลุ้มใจนอนไม่หลับ ครุ่นคิดอยู่ ๒–๓ คืน หาทางออกอย่างไรก็ไม่ได้ ผลสุดท้ายเห็นมีทางออกอยู่ทางเดียวคือ ไปกระโดดน้ำตายเสียให้พ้นทุกข์ เผอิญรุ่งขึ้นถูกลอตเตอรี่ เป็นเรื่องหวาดเสียวสยองแต่ก็เป็นบุญพระช่วย
๖.
วิธีอบรมลูก
แม่ผมมีความคิดแบบก้าวหน้าหลายอย่าง แต่อบรมลูกส่วนใหญ่แบบโบราณ คือ ทะนุถนอมลูกจนเกินไป เช่น ให้ลูกผู้ชายนั่งรถม้าไปโรงเรียน ห้ามเด็ดขาดไม่ให้เล่นฟุตบอล แม้แต่จะไปดูฟุตบอลก็ห้าม ไปเล่นฟุตบอลเดี๋ยวแข้งขาหัก เรื่องแข้งขาหักเป็นเรื่องที่แม่กลัวนัก แต่ก็ไม่วายที่ผมจะแอบหนีไป คือไปดูฟุตบอลเมื่อแม่ตั้งวงไพ่ ถ้าวันไหนอยากไปดูฟุตบอลแต่แม่ตั้งวงไพ่ไม่ได้ ขาไม่ครบ เป็นอด เพราะถ้าหนีไปแม่ก็ต้องรู้ จะเล่นฟุตบอลเราก็ไปสนามหลวงหรือลุมพินีในตอนเช้าตรู่ก่อนแม่ตื่น กลับมาตอนสายพอดีรับหน้าแม่เมื่อตื่น เมื่อผมอายุ ๑๕ ปี ก็มีอุบัติเหตุแขนหักข้างขวาจนความแตก ที่แขนหักนั้นไม่ใช่เพราะไปเล่นฟุตบอล ตั้งใจจะไปดูที่ลุมพินี แต่ยืมจักรยานเพื่อนขี่แล้วล้มในสนามนั้นเอง พวกเราจะไปไหนตามปกติต้องขออนุญาตก่อนเสมอ แม่ห้ามนักห้ามหนากลัวจะไปคบนักเลงแล้วจะเป็นอันธพาล แต่กระนั้นผมก็ยังหนีหลบไปเล่นกีฬาอยู่เนือง ๆ
แม่มีกิตติศัพท์เลื่องลือว่าดุ มีไม้เรียวอาญาสิทธิ์เหน็บไว้หลังกระจกข้างเก้าอี้ประจำตัวของท่านที่หน้าบ้าน แต่ท่านมักจะใช้ไม้เรียวตีเด็กเล็ก ๆ และเลือกที่จะตีที่ขา ส่วนใหญ่ใช้ขู่มากกว่าตีจริง ๆ แต่ถ้าถูกตีแล้วก็ทั้งเจ็บทั้งอายเนื่องจากแม่เป็นพี่สาวคนโต อาณาจักรแห่งอำนาจของท่านจึงกว้างขวางแผ่ไปถึงบ้านน้า ๆ ผมหลายบ้าน ลูกพี่ลูกน้องผมดื้อหรือ ซนหรือ ไม่กินยาหรือ ไม่กินข้าวหรือ ไม่อาบน้ำหรือ พอได้ยินว่า“คุณป้าใหญ่” หรือ“แม่ป้าใหญ่” มาแล้ว เป็นเรียบร้อย ผู้ที่อยู่ในอาณาจักรของแม่เดี๋ยวนี้เป็นข้าราชการชั้นอธิบดีก็มี เป็นผู้จัดการสาขาธนาคารพาณิชย์ก็มี เป็นนายตำรวจชั้นนายพันก็มี เป็นพนักงานธนาคารชาติก็ยังมี
เวลาลูกหลานทำการบ้านเรียบร้อย อ่านหนังสือ วาดเขียน ทำงานฝีมือ หรือสอบไล่ได้ผลดี แม่ก็พอใจแต่ไม่ชอบชมต่อหน้า แกล้งพูดให้คนอื่นฟังโดยรู้ว่าเราได้ยิน เพราะพวกเรามักแอบฟังผู้ใหญ่คุยกัน อยู่รวมกันในห้องแถวแคบ ๆ เช่นนั้นย่อมอดได้ยินได้ฟังอะไร ๆ ไม่ได้ เมื่อผมสอบชิงทุนได้ไปเรียนนอกและทราบผลประกาศแล้ว แม่ก็จับตระเวนไปลาญาติพี่น้องเพื่อนฝูงทุกวันทั้งเช้าทั้งบ่ายหลายสัปดาห์ บางครั้งรู้สึกระอาเพราะทั้งเบื่อทั้งกระดากที่แม่พาไปโฆษณา เพื่อนของแม่บางคนที่ต้องไปลาผมไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย แต่แม่บอกว่าเอาเถิดเอ็งถือกระเป๋าหมากให้แม่ ไปเป็นเพื่อนแม่ก็แล้วกัน เคราะห์ดีผมทนไปกับแม่ทุกนัด ถ้าไม่ไปคงจะนึกเสียดายและเสียใจมาถึงบัดนี้ เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จะทำตามใจแม่ ผมไปเมืองนอกเดือนเมษายน ๒๔๘๑ ต่อมาอีก ๖ เดือน แม่ก็ตาย
๗.
คาถาของแม่
แม่ไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีคุณธรรมหลายประการ ดังได้พรรณนามาแล้ว ความบกพร่องย่อมมีอยู่บ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่ใช่วิสัยของลูกที่จะมาบรรยาย
แม่มีคาถาอยู่ ๓-๔ ข้อ ซึ่งถ้าอธิบายให้ทราบ บางทีจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย
ความมานะเด็ดเดี่ยวเป็นคาถาข้อแรกของแม่ที่เห็นได้ชัดจากประวัติของท่าน เมื่อตั้งใจจะทำอะไร โดยเห็นแน่วแน่แล้วเป็นสิ่งที่ดีสิ่งที่ชอบธรรม ก็ต้องทำให้ได้แม้จะต้องเสี่ยงต่ออันตราย ความยากลำบาก ใครจะนินทาเย้ยหยันอย่างไรก็ต้องมานะอดทน โดยหวังประโยชน์ถาวร จะเด็ดเดี่ยวได้ต้องกล้าหาญ แต่กล้าหาญไม่ใช่กล้าบ้าบิ่นซึ่งเป็นการเสี่ยงภัยโดยไร้ประโยชน์ แม่ไม่เคยขลาดและไม่เคยบ้าบิ่น แต่กล้าหาญกว่าใคร ๆ
แม่รักอิสรภาพและเสรีภาพยิ่งกว่าชีวิตถ้าท่านยอมไปเมืองจีนเมื่อท่านเป็นหม้ายใหม่ ๆ บางทีชีวิตแม่อาจจะยืนนานกว่าที่เป็นอยู่ แต่แม่ไม่เคยคิดจะให้ใครเลี้ยง เงินอุปการะของลุง ท่านถือว่าเป็นสิทธิ์ของท่านที่ควรได้เพราะเตี่ยได้ช่วยลุงทำงานจนสร้างบ้านที่เมืองจีนได้ใหญ่โต ท่านพูดให้ฟังอยู่เสมอว่าไปให้ลุงเลี้ยงที่เมืองจีนก็เหมือนไปเป็นนกขุนทองอยู่ในกรง บินไปไหนไม่ได้ตามใจชอบ เช้าค่ำมีอาหารกินจะพูดตามใจตัวก็พูดไม่ได้ พูดไม่ได้ตามใจไม่ใช่ไทยแท้
คาถาข้อต่อไปคือ ความซื่อสัตย์สุจริตแม่พูดบ่อย ๆ ว่า เลี้ยงลูกมาไม่ได้เอาเปรียบใคร ไม่ให้คดในข้องอในกระดูก ต้องซื่อสัตย์ ต้องคงวาจาสัตย์ เมื่อแม่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระคืนเขา แม่ก็จะปักใจและรับกรรมด้วยชีวิต ครั้นบุญมาวาสนาส่งให้ได้เงิน เจ้าหนี้กี่ราย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทวง แม่ก็ชำระคืนหมดทั่วหน้า บางรายให้ยืมมาจนลืม ก็ยังชำระให้เสร็จสิ้นไป
ความใจกว้างเมตตากรุณานั้น แม่ปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง ท่านว่า คนเราก็ต้องมีเรื่องทุกข์ร้อนกันทั้งนั้น ถ้ามนุษย์ไม่ช่วยซึ่งกันและกันแล้วโลกจะแคบ มีคนเตือนแม่ว่า ทำไมใจกว้างนัก ใครขออะไรก็มักจะให้ แม่ก็ตอบว่า ถ้าเขาไม่ลำบากจริง ๆ แล้วเขาจะบากหน้ามาขอเราหรือ
แม่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ใครตำหนินินทาได้และไม่ให้ใครดูถูก แต่ถ้าใครเอาความเท็จมานินทา แม่ก็ไม่สนใจ บอกว่าอย่าไปเอาใจใส่กับคนพาล เช่น เมื่อผมถูกด่าว่าเป็นฮวนเกี๊ยหรือล้อว่าเป็นไอ้เจ๊ก ท่านก็บอกว่า เขาไม่รู้จะติเราว่าอย่างไรแล้วจึงหยิบเอาเรื่องส่วนตัวมาว่ากัน ฉะนั้น เมื่อผมอายุมากแล้วกำลังถกเถียงกันถึงเรื่องสำคัญ ๆ เกี่ยวกับเสรีภาพของบ้านเมือง ใครมาตอบเรื่องส่วนตัว เช่น ยั่วผมว่ากินขนมปัง นอนกับฝรั่ง ก็นึกขึ้นได้ว่าเพราะเขาจนต่อเหตุผลของเราแล้วจึงแว้งไปพูดเรื่องส่วนตัว หรือมีคนหาว่าขี้ขลาด ดีแต่อบอุ่นอยู่เมืองนอก ทิ้งเพื่อนฝูงไว้เผชิญอันตราย ผมก็ได้คิดว่าคนอย่างนี้ก็มีด้วย จนแก่ถ้อยคำแล้วก็เสกสรรปั้นเรื่องไม่นึกถึงเรื่องจริง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒๘ ปีที่แล้วมา นึกเสียว่ามดกัด
๘.
ผู้หญิงอื่นในชีวิตผม
เรื่องผู้หญิงในชีวิตของผม ยังไม่จบเป็นแน่นอน เพราะในบทนี้เขียนเรื่องแม่เท่านั้น และยังมีผู้หญิงอีกมากในชีวิตของผม มีหลายคนที่น่าเขียนให้อ่านกัน ทำไมจึงเขียนหรือจะเขียนเรื่องผู้หญิงในชีวิต? ตอบได้ ๒ ประการ คือ ถ้าไม่เขียนเรื่องผู้หญิงก็คงต้องเขียนเรื่องผู้ชาย ถ้าเกริ่นให้บรรณาธิการทราบว่าจะเขียนเรื่องผู้หญิงในชีวิตของผม บรรณาธิการคงจะสนใจถึงกับใจเต้นตึกตัก แต่ถ้าเกริ่นว่าผมจะเขียนเรื่องผู้ชายในชีวิตของผม บรรณาธิการอาจจะเข้าใจผมผิดไปมาก ๆ ก็เป็นได้
สำหรับเรื่องของผู้หญิงอื่น ผมคิดว่าคงเขียนยากกว่าเขียนเรื่องแม่ มีเหตุผลหลายประการ ข้อสำคัญก็คือไม่แน่ใจว่าเจ้าตัวเขาจะยอมให้เขียน ในบางกรณีอาจจะต้องรอให้เจ้าตัวตายไปเสียก่อน แต่ก็หนักใจอยู่ว่าถ้าผมตายไปเสียก่อนแล้วจะเขียนได้อย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะเขียนเรื่องเมียผม ก็คงจะเห็นได้ชัดว่ายากเพียงใดในโลกนี้ แม่หม้ายมีมากกว่าพ่อหม้ายมากต่อมากนัก
จะชิงเขียนเรื่องเมียผมไว้ในที่นี้สักเล็กน้อย เพราะมาฉุกคิดได้ว่าส่วนใหญ่พวกเราชาวธนาคารชาติ[4]ไม่ใคร่รู้จักเมียผม บางคนไม่เคยเห็นด้วยซ้ำไป ซึ่งก็นับว่าเป็นบุญ เพราะในสำนักงานไหนถ้าพนักงานรู้จักเมียของหัวหน้าสำนักงานจนถึงขนาดแล้วมักจะมีเรื่องยุ่งพิลึก
เมื่อผมเป็นผู้ว่าการธนาคารนี้ เมียผมมีความเดือดร้อนมากอยู่ข้อหนึ่ง คือมีคนแปลกหน้าไปหาที่บ้านแล้วเอาของขวัญของกำนัลไปให้เสมอ ถ้าผมอยู่บ้านละก็สะดวกหน่อย เพราะผมปฏิเสธเองได้ นอกจากจะเป็นคนรู้จักกันสนิทเป็นเพื่อนกันและของขวัญก็เล็กน้อย ก็รับเอาไว้ เพราะไม่ใช่ของกำนัลสินบน เราปฏิบัติกันอย่างนี้ตลอดมา
วันปีใหม่ปีหนึ่ง เผอิญผมไม่อยู่บ้าน มีพนักงานธนาคารเราคนหนึ่ง(ซึ่งเดี๋ยวนี้ลาออกไปแล้ว)นำเอากระเช้าผลไม้ไปให้ทีหนึ่งแล้ว ผมก็บอกว่าอย่าเอามาอีกเลย ขอบคุณมาก เขาก็บอกว่าเขานำมาด้วยความนับถือจริง ๆ ในโลกนี้เขานับถืออยู่ ๒ คน ผมเป็นคนหนึ่งในสองนั้น ผมก็ขอบใจแล้วบอกว่านับถือไว้ในใจก็ได้ ปีหน้าอย่านำมาอีกเลย มาถึงปีที่จะเกิดเหตุเมียผมรับหน้าที่ปฏิบัติอย่างเคย คือขอให้เอาของขวัญนั้นกลับไปเสีย พูดเป็นภาษาฝรั่งพนักงานคนนั้นก็เซ้าซี้อยู่นั่นแหละ เมียผมนึกว่าไม่เข้าใจภาษาอังกฤษจึงใช้ภาษาไทยแทน แต่ภาษาไทยของเมียผมใคร ๆ ก็รู้ว่าจำกัดมาก คือพูดได้ว่า“ไปซิ-ไปซิ”พนักงานคนนั้นก็โกรธหาว่าขับไล่ แล้วเลยผูกใจเจ็บพยาบาทตั้งแต่นั้นมาจนทุกวันนี้ มีโอกาสทีใด ก็พยายามเอาความเท็จมาผสมกับความจริงเล่นงานผมทุกที เช่น กล่าวหาว่าผมทำงานด้านอื่นเสียจนไม่ทำหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารชาติ ราวกับว่าตนนั้นรู้จักหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารชาติ เคยทำมาเป็นอย่างดี และเมื่อจะเล่นงานด่าผมก็แว้งเลยไปด่าถึงเมียเสมอ ประหลาดมากที่เป็นนักมวยชกใต้เข็มขัด
ข้อที่อยากขอให้ช่วยกันคิดก็คือ เมียผมทำผิดหรือทำถูก ถ้าอยากอ่านเรื่องผู้หญิงในชีวิตของผมอีก ก็ควรเขียนบอกบรรณาธิการมา และโปรดอ้างเหตุผลให้ทราบด้วยว่า ทำไมถึงอยากอ่านอีก และกลับกัน ถ้าไม่อยากอ่านอีกก็ช่วยเตือนกันด้วย[5]
[1] คือเรื่องพลนิกรกิมหงวนของป.อินทรปาลิต
[2] กล่าวคือขุนรักษาอากรกิจกับภรรยาชื่อกรมีบุตรีคือน้อมซึ่งสมรสกับโชติล่ำซำและเป็นมารดาของบัญชาล่ำซำและคุณหญิงรัชนีจาติกวนิช
และขุนรักษาอากรกิจกับภรรยาชื่อพรมีบุตรีคนหนึ่งคือจำเนียรซึ่งสมรสกับเพ็ญสิมะเสถียรและเป็นมารดาดร.พนัสโดยที่บุตรีอีกคนหนึ่งคือเยี่ยมศรีสมรสกับทรงบุลสุข
[4] เนื่องจากพิมพ์ครั้งแรกในธปท. ปริทรรศน์อันเป็นวารสารของธนาคารแห่งประเทศไทย
[5] ที่จริงมีหลายคนเขียนถึงบรรณาธิการฯและเขียนถึงท่านขอให้เขียนเรื่องผู้หญิงคนอื่นๆในชีวิตของท่านอีกแต่ท่านก็ไม่ได้เขียนให้